รีเซต

น้ำอสุจิมีความเสี่ยง ! พบไมโครพลาสติกเจือปนในตัวอย่างการศึกษาทั้งหมด

น้ำอสุจิมีความเสี่ยง ! พบไมโครพลาสติกเจือปนในตัวอย่างการศึกษาทั้งหมด
TNN ช่อง16
11 มิถุนายน 2567 ( 14:17 )
33
น้ำอสุจิมีความเสี่ยง ! พบไมโครพลาสติกเจือปนในตัวอย่างการศึกษาทั้งหมด

นักวิจัยด้านสาธารณะสุขของประเทศจีนจากหลายสถาบัน ได้ทำการตรวจสอบน้ำอสุจิ และพบว่ามีไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดเล็กมาก เจือปนในทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบ และตั้งสมมุติฐานว่าอาจมีส่วนทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง 


ทั้งนี้การศึกษาได้เก็บตัวอย่างน้ำอสุจิจากชายวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 36 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลจี่หนาน ทางตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติกแต่อย่างใด


สำหรับจุดประสงค์ของการศึกษานี้คือ ไมโครพลาสติกที่มนุษย์รับประทานเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ มีส่วนทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงหรือไม่ 


วิธีการศึกษาดำเนินการโดยใช้กล้องจุลทรรศน์รามาน (Raman MicroSpectroscopy) เพื่อระบุปริมาณของไมโครพลาสติก ส่วนการเคลื่อนไหวของอสุจิได้รับการประเมินโดยการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนการประเมินลักษณะทางสัณฐานวิทยาของอสุจิ ศึกษาโดยการย้อมสี Diff-Quik (เป็นวิธีการที่นิยมในทางการแพทย์ โดยย้อมสีเพื่อให้มองเห็นส่วนประกอบของเซลล์)


ผลการศึกษา นักวิจัยพบว่ามีอนุภาคไมโครพลาสติกเฉลี่ย 2 ชิ้นต่อตัวอย่าง ขนาดตั้งแต่ 0.72 - 7.02 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ที่มีขนาดประมาณ 100 ไมโครเมตร ราว 15 เท่า มีไมโครพลาสติกที่แตกต่างถึง 8 ชนิด โดยพบชนิดโพลีสไตรีนเยอะที่สุดที่ร้อยละ 31 โดยนักวิจัยเผยว่า อสุจิที่เจือปนกับโพลีสไตรีน จะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าอสุจิที่เจือปนกับชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ ซึ่งการค้นพบนี้ อาจช่วยอธิบายการลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์ได้ ซึ่งสมมุติฐานข้อนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน นักวิจัยจำเป็นจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในอนาคต


ทั้งนี้การศึกษาก่อนหน้าโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund หรือ WWF) เผยว่ามนุษย์เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือก็คือเทียบเท่ากับปริมาณพลาสติกของบัตรเครดิตขนาดมาตรฐาน ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ เจือปนอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น มหาสมุทร พื้นดินและอนุภาคในอากาศ


การศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำอสุจิของมนุษย์ จะตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2024


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, ScienceDirect

ที่มารูปภาพ PexelsReuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง