‘พุทธิพงษ์’พลิกวิกฤตโควิด สปีดโครงสร้างพื้นฐาน 5G หนุนประเทศไทยไปต่อ!!
“ต้องถือเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส วางโครงสร้างพื้นฐาน 5G โดยการขยายสถานีฐานวางโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เพื่อให้ในอนาคตที่ 5G ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานในการรองรับนี้จะมีความพร้อมสอดรับกันพอดี เกิดการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเริ่มฟื้นตัวจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว”
หลังจากองค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จากระดับโรคระบาด สู่การเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลกอย่างเป็นทางการ แต่ละประเทศทั่วโลกต่างมีวิธีรับมือการแพร่ระบาดที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะเครื่องมือในการช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เลย
วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายต่อมนุษยชาติในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัด ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ไม่ได้มีไว้เพื่อจัดแสดงในงานแสดงเทคโนโลยีเท่านั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือบิ๊กดาต้า ไม่ได้ฟังดูเป็นเรื่องของอนาคตอีกต่อไป ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกเป็นนัยสำคัญได้ว่า โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาเร่งให้ “คน” และ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ถึงการใช้เทคโนโลยีก้าวข้ามความท้าทายโควิด-19 เพื่อให้ประเทศไทยไปต่อว่า ต้องถือเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส โดยจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีแนวนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ชัดเจนในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 การติดต่อสื่อสารกันแบบเห็นหน้ามีความจำเป็นน้อยลง แต่การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยง เลี่ยงอยู่ในคนหมู่มาก ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย สามารถซื้อสินค้าได้แบบไม่ต้องใช้เงินสด ชำระเงินผ่านเทคโนโลยีอีเพย์เมนต์หรือรูปแบบการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการสัมผัส จับต้องเงินสด ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งคนซื้อและคนขาย รวมถึงการอัพสกิล-รีสกิล ทักษะด้านดิจิทัล ส่วนนี้ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส อย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ต้องใช้โอกาสนี้มองหาลู่ทางที่หลากหลายในการต่อยอดธุรกิจ
“แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในสภาวะชะลอ เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประชาชน ผู้ประกอบการ ควรนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาธุรกิจ เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล รวมถึงมองหาลู่ทางและทิศทางใหม่ๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตเหล่านี้ไปให้ได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว
⦁ฉวย‘วิกฤต’วางโครงสร้าง5G
ในสถานการณ์วิกฤตนี้ หลายหน่วยงานมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เพื่อลดการพบปะซึ่งกันและกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G โดยการขยายสถานีฐาน วางโครงข่าย ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เพราะอนาคตเมื่อ 5G ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานจะมีความพร้อมสอดรับกันพอดี เกิดการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเริ่มฟื้นตัวจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว
ในส่วนของกระทรวงดีอีเอสได้มอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เร่งผลักดันโครงการต่างๆ ขึ้นมารองรับ เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ หรือกระทั่งการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลาย เชื่อว่าจะอยู่ในกรอบเวลาปี 2564 โครงสร้างพื้นฐาน 5G จะมีความพร้อม
ปัจจุบัน “เอ็นที” มีคลื่นความถี่ประกอบด้วย ย่าน 700, 850, 900, 2100, 2300 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ขาดคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สำคัญในการให้บริการ 5G ดังนั้น เร็วๆ นี้ จะมีการแถลงความร่วมมือระหว่างเอ็นทีโมบายกับบริษัทเอกชนด้านโทรคมนาคมรายหนึ่ง เพื่อนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่ แลกกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งข้อดีคือ เร็ว และประหยัด เพื่อทำให้เอ็นทีมี 5G ในการให้บริการลูกค้า และขยายธุรกิจต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปี 2564-2565 เป็นปีที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กร หลังการควบรวมกิจการของเอ็นที ให้มีความสมบูรณ์ สร้างวัฒนธรรมใหม่ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะที่แผนการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ คือ ระบบเครือข่ายของแคท และทีโอที จะรวมเป็นเอ็นทีโมบาย มีการเสนอแพคเกจแบบเดียวกันให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันลูกค้าเดิมของทีโอทีโมบาย มีอยู่ 1.8 แสนราย ขณะที่ มาย บาย แคท อยู่ที่ 2.5 ล้านราย รวม 2.68 ล้านราย ทั้งนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ร่วมกัน อาทิ เสาสัญญาณ, การให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ โครงการท่อร้อยสาย การขับเคลื่อนการให้บริการ 5G จากคลื่นความถี่รวม 600 เมกะเฮิรตซ์ หลากหลาย และครอบคลุม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศ
“ตั้งเป้าภายในปี 2564 เอ็นทีจะขึ้นเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งไม่ไกลเกินความจริงจากจุดที่เรายืนอยู่วันนี้ อีกทั้งการทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมาย หากไม่มีการวางแผนการพัฒนาจะไม่สามารถทำงานได้ ไม่ได้หมายความว่าเอ็นทีจะมาแทนที่ใคร เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทายด้วยประสิทธิภาพ จึงฝากถึงบริษัทด้านโทรคมนาคมรายอื่น ซึ่งเดิมอาจมองว่าเอ็นทีเป็นคู่แข่งขันที่ไม่ได้อยู่ในสายตา แต่วันนี้อยากให้ตระหนักและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งใจ ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ยืนยันว่าจะทำให้เอ็นทีเข้มแข็ง มีโอกาสทางธุรกิจ ผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐ เชื่อว่าจากศักยภาพขององค์กร ทั้งสินทรัพย์ เครือข่าย เทคโนโลยี บุคลากรที่มีอยู่ จะรองรับและมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกำหนด ช่วงปลายปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการจัดการประมูลวงโคจรดาวเทียม ซึ่งเอ็นทีจะเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประมูลแน่นอน เพราะกิจการดาวเทียมจะเป็นโอกาสในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจ
⦁ผุดมาตรการหนุน‘เวิร์กฟรอมโฮม’
นอกจากนี้ กระทรวงดีอีเอสได้ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, เอ็นที และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ในการสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยสนับสนุนการใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ โดยไม่คิดค่าดาต้า เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2564
ขณะที่ กสทช.ร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการช่วยเหลือประชาชนในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน และอินเตอร์เน็ตมือถืออีกเป็นเวลา 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มความเร็วขึ้นไม่ต่ำกว่า 100/100 เมกะบิต สำหรับผู้ใช้บริการที่ใช้บริการในโครงข่ายไฟเบอร์ และเพิ่มความเร็วให้เต็มขีดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ เช่น xDSL และ 2.การออกแพคเกจเสริมพิเศษ ในราคา 79 บาทต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 10 เบกะบิตสำหรับการใช้แอพพลิเคชั่นเวิร์กฟรอมโฮมต่างๆ เช่น Microsoft Teams 365, ZOOM (ค่าบริการไม่รวมค่า license ในการใช้งานแอพพลิเคชั่น) เป็นต้น
อีกทั้งยังหารือกับโอเปอเรเตอร์ ในการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในรูปแบบการสนับสนุนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งลูกค้าในระบบรายเดือน (โพสต์เพด) และระบบเติมเงิน (พรีเพด) ผ่านการลงทะเบียนรับสิทธิในจำนวนที่กำหนด เช่น 5 ล้านสิทธิเป็นต้น สำหรับผู้ใช้บริการเติมเงินทุกราย และผู้ใช้บริการรายเดือนที่ใช้แพคเกจรายเดือนต่ำกว่า 500 บาท
ส่วนสิทธิและจำนวนเงินในการสนับสนุนต่อราย รวมถึงระยะเวลาในการสนับสนุนนั้น ยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปร่วมกัน อาจจะเป็น 100 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และจำนวนผู้ใช้งานว่าเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นจำนวนเท่าใด โดยจะเร่งหาข้อสรุปร่วมกันกับ กสทช. จากนั้นจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังกำชับให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายดูแลคุณภาพสัญญาณให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ประชาชนเวิร์กฟรอมโฮม โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายในการรองรับโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ของรัฐบาล และเตรียมระบบรองรับโอทีพี ในการลงทะเบียนรับสิทธิของโครงการด้วย
⦁ยันไม่โหลด‘หมอชนะ’ไม่ผิดกม.
สำหรับการรณรงค์ให้ใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อช่วยให้ติดตามควบคุมการแพร่เชื้อของโรคที่ไปกับบุคคลและการออกแบบแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ได้ระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและมีแนวคิดเพื่อติดตามสำหรับทุกคน โดยไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร
ส่วนที่ยังมีข้อกังวลและเกิดความสับสนอยู่ในสังคม คือ เมื่อโหลดแอพพลิเคชั่นไปแล้วมีความปลอดภัยหรือไม่ยืนยันว่าปลอดภัยแน่นอน เมื่อดาวน์โหลดไปแล้วจะไม่ปรากฏชื่อ-นามสกุล แต่จะเป็นรหัสตัวเลขระบบคอมพิวเตอร์ เช่น 111 ดังนั้น เวลาเข้าไปดูจะไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้จะมีแต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เท่านั้น และสามารถย้อนหลังไปได้ประมาณ 14 วัน จึงทราบว่าตัวเลขนี้ไปพบกับใครบ้าง และส่งสัญญาณเตือนเจ้าของหมายเลขนั้นๆว่ามีความเสี่ยง
ส่วนเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับไทม์ไลน์และไม่อยากบอกคนอื่น เรื่องนี้หากทุกคนพร้อมใจกันดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกไทม์ไลน์ให้ผู้อื่นทราบ เพราะระบบจะตรวจสอบว่าผู้ที่ติด 1 คนได้ไปสัมผัสกับผู้ที่ดาวน์โหลดคนใดบ้าง จึงสบายใจได้ว่าถ้ามีปัญหา มีความเสี่ยงหรือติดเชื้อจะได้ไม่ต้องมานั่งนึกไทม์ไลน์ สำหรับข้อกังวลว่าในแอพพลิเคชั่นต้องมีการถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตน เกรงจะไม่ปลอดภัยถูกนำไปเก็บในข้อมูลของรัฐบาลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าการถ่ายรูปในแอพพลิเคชั่น เป็นแค่การถ่ายรูปและเก็บไว้ในมือถือของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้นำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งการถ่ายรูปยืนยันตัวตนในกรณีที่จะเดินทางข้ามจังหวัด สามารถแสดงที่จุดตรวจหรือด่านได้
ขณะที่หลายคนกังวลว่าแอพพลิเคชั่นหมอชนะ มีการติดตามทางไมโครโฟนว่าเวลาพูดอะไรออกไปแล้วจะดูดเสียงเก็บไว้เพื่อเอาข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และแอพพลิเคชั่นหมอชนะปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ท่ามกลางการระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อให้หมอพยาบาลเฝ้าติดตามข้อมูลและป้องกันการติดต่อของเชื้อที่จะไปกับประชาชนที่เดินทางทำได้เร็วขึ้น และจำกัดการแพร่ตัวของโรคได้เร็วขึ้น
“การไม่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ดาวน์โหลดไม่เป็นไร แต่เป็นการขอความร่วมมือประชาชนให้ดาวน์โหลดไว้ทุกคน ช่วยดาวน์โหลดกันเยอะๆ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ดาวน์โหลด แก่คนในครอบครัว ยิ่งที่บ้านมีผู้สูงอายุด้วย เมื่อดาวน์โหลดแล้วเวลาไปไหนเมื่อ 7 หรือ 10 วันที่ผ่านมา อาจจะไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือระบบที่สามารถดาวน์โหลดได้ ก็เข้าระบบปกติคือการบันทึกเอกสาร ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำเอกสารให้กรอกข้อมูล เมื่อดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลจะถือว่าทุกคนมีความเสี่ยงต่ำ เพราะระบบติดตามจะเริ่มเมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเดินทางและไปอยู่ใกล้บุคคลที่มีความเสี่ยงไทม์ไลน์ก็จะเริ่มขึ้น ยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อการติดตามควบคุมและง่ายต่อการสอบสวนโรค” นายพุทธิพงษ์กล่าว
⦁ชงตั้ง2คณะอนุกรรมการ
เคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ จากการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเสนอแนะนโยบายและกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2564
ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและมอบหมายงาน จำนวน 2 คณะประกอบด้วย คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอสเป็นประธาน ขอบเขตหน้าที่ วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์, เสนอแนะมาตรการส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการลงทุนของธุรกิจบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการไทย และขจัดข้อจำกัดในการกำกับดูแลธุรกิจบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการต่างประเทศ
ส่วนคณะอนุกรรมการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน โดยมีขอบเขตหน้าที่หลัก คือ รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของธุรกิจบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ไทยและต่างประเทศ ศึกษาความแตกต่างที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือได้เปรียบเสียเปรียบในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ และระบุปัญหาและข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และเสนอแนวทางสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ได้ให้แนวทางการทำงานทั้งสองคณะว่า เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสนับสนุนผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ที่มาจดทะเบียนในไทยได้รับสิทธิประโยชน์ก่อน ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นการจูงใจให้มาลงทุนในประเทศมากขึ้น จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพุทธิพงษ์ย้ำตอนท้ายว่า หนึ่งบทเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ พบว่าการระบาดไม่ว่าความรุนแรงจะอยู่ในระดับไหน มักเป็นตัวกระตุ้นและเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย หรือสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้น
และหากวิกฤตไวรัสสงบลง มองว่า เทคโนโลยีจะยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงก่อน จะสามารถยืนหยัดต่อไปได้
ทีมข่าวเศรษฐกิจ