รีเซต

เพิ่มอีก 300 คู่สาย โทร.1330 รองรับหาเตียงโควิด-19 พร้อมติดต่อกลับทุกราย

เพิ่มอีก 300 คู่สาย โทร.1330 รองรับหาเตียงโควิด-19 พร้อมติดต่อกลับทุกราย
มติชน
22 เมษายน 2564 ( 14:28 )
77

 

ข่าววันนี้ (22 เมษายน 2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความแออัดในการเข้ารับการตรวจคัดกรองรวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งอาจประสบปัญหาเตียงเต็ม ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบให้ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สปสช. จัดระบบรองรับโดยจะให้สายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับ โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ที่ทำหน้าจัดหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา

 

 

“จากผลการดำเนินการพบว่า ในแต่ละวันมีปริมาณสายโทรเข้ามาจำนวนมากบางวันเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 7,000 ครั้ง จากปกติที่สายด่วน สปสช. 1330 ให้บริการจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 2,000 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีไม่ใช่แค่การให้บริการเรื่องประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น ยังมีบริการสอบถามให้ข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรทองอื่นๆ ด้วย ซึ่ง สปสช.ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการและเพิ่มจำนวนคู่สายเพิ่มขึ้นเป็น 300 สาย และกำลังจะเพิ่มเป็น 600 คู่สาย เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของประชาชนท่านใดที่โทรเข้ามา แล้วยังไม่มีผู้รับสายไม่ต้องกังวล ระบบได้บันทึกเลขหมายท่านไว้แล้ว และจะมีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อกลับทุกครั้ง ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยในแต่ละวันมีสายที่โทรเข้ามาแล้ว แต่ไม่มีผู้รับสายเนื่องจากเจ้าหน้าที่ติดสายอื่นอยู่เฉลี่ยวันละประมาณร้อยละ 14 ซึ่งในส่วนนี้ สปสช.ระดมกำลังบุคลากรให้โทรกลับไปยังเบอร์ดังกล่าวทุกวันเพื่อรับเรื่องขอความช่วยเหลือ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะที่การประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น สปสช.สามารถประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยได้แล้วเกือบ 500 เตียง หรือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 50 ของสายที่โทรเข้ามาเพื่อให้ สปสช.ช่วยประสานหาเตียงให้ ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มที่ยังรอการประสานหาเตียงนั้น ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2564 เป็นต้น เจ้าหน้าที่ของสายด่วนทั้ง 2 สาย ได้โทรไปสอบถามอาการทุกๆวันจนกว่าจะประสานหาเตียงให้ได้ เพื่อแจ้งผลการประสานว่าอยู่ขั้นตอนไหน รวมทั้งจะได้ติดตามอาการผู้ป่วยไปในตัว แต่หากระหว่างรอเตียงแล้วอาการแย่ลง ก็จะมีกลไกสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล

“การทำงานของสายด่วน สปสช. 1330 เรื่องการประสานหาเตียงทำควบคู่กันไปกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1

668 ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานระดมกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อบริการประชาชน ในส่วนของสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์เองก็มีหลายภารกิจนอกเหนือจากเรื่องการประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เราได้จัดกระบวนการรองรับกรณีเกิดปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถติดต่อสายด่วนทั้ง 2 สายได้ ตั้งแต่การบันทึกหมายเลขเพื่อโทรกลับ ในส่วนของสายที่ยังรอการจัดหาเตียงก็จัดเจ้าหน้าที่โทรติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะได้เตียง เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง