รีเซต

โควิด-19: ผู้ป่วยหน้าใหม่ทะลุ 2 พันคนในวันเดียว กว่า 1.4 พันรายยังรอเตียง

โควิด-19: ผู้ป่วยหน้าใหม่ทะลุ 2 พันคนในวันเดียว กว่า 1.4 พันรายยังรอเตียง
บีบีซี ไทย
23 เมษายน 2564 ( 13:27 )
27
โควิด-19: ผู้ป่วยหน้าใหม่ทะลุ 2 พันคนในวันเดียว กว่า 1.4 พันรายยังรอเตียง

ไทยทำสถิติใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันถึง 2,070 รายภายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับจากมีการรายงานข้อมูลโดย ศบค. ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 5 หมื่นรายเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย

 

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 หน้าใหม่ ที่ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ใช้คำว่า "นิวไฮ" อีกครั้งในระหว่างการแถลงข่าวประจำวัน (23 เม.ย.) ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยต้อง "พยากรณ์การใช้เตียง" และจัดเตรียมแผน "เบ่งเตียง" รองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน

 

"มีผลกระทบแน่นอน เรายังไม่รู้ว่าจุดที่เป็นปลายทางจะเป็นอย่างไร นี่คือการประเมินสถานการณ์ในภาวะที่มีวิกฤตรุนแรงมาก ๆ ต้องทำอย่างไร" โฆษก ศบค. กล่าว

 

เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบผู้ป่วยหน้าใหม่วันเดียว 740 ราย

 

ขณะที่เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Unit - ICU) ในพื้นที่ กทม. มี 262 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง และเตียงในห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) มี 479 เตียง ยังว่างอยู่ 69 เตียง

 

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการพยากรณ์ว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อ 1,500 รายต่อวัน ขณะนี้ทั้งประเทศไทยเหลือเตียงราว 1 พันเตียง ใช้ได้ 52 เตียงต่อวันทั้งประเทศ จึงรองรับได้ 19 วัน ส่วน กทม. ใช้ 10-13 เตียงต่อวัน จำนวนเตียงที่เหลืออยู่จะใช้ได้เต็มที่ในอีก 6-8 วันข้างหน้า

 

"เตียงไอซียูที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะใน กทม. เหลือเวลาสั้นมาก" โฆษก ศบค. กล่าว

 

3 แนวทางแก้วิกฤตเตียงไม่พอ

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังปลัดด สธ. พูดคุยกับทุกภาคส่วนตามที่ นพ. ทวีศิลป์แถลงข่าว สรุปใจความสำคัญได้ว่า

 

หนึ่ง "เบ่งเตียง" โดยเพิ่มจำนวนเตียงเข้าไปในสถานที่เดิม และต้องดูแลพื้นที่ที่เหมาะสม มีอากาศถ่ายเท

 

สอง "ขยาย Cohort" (หอผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ใช้รองรับคนไข้โควิด) โดยใช้พื้นที่ ไอซียูที่กว้างขึ้น หรือปรับปรุงวอร์ดอื่น ๆ ขึ้นมา โดยเอาคนไข้กลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในที่เดียวกัน และให้คนไข้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

 

สาม ผุด "ไอซียูสนาม" ซึ่งยุ่งยาก ต้องปรับปรุงสถานที่ แต่ก็มีการพูดคุยกัน โดย รพ.ราชวิธีซึ่งเป็น รพ. หลักของ สธ. ต้องขยายเตียงและรองรับเตียงตรงนี้

 

นพ. ทวีศิลป์ยืนยันว่า สธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามบูรณาการทรัพยากรทั้งหมด ทั้งเตียง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เพื่อดูและประชาชน และขอให้ความมั่นใจว่าทำอย่างเต็มที่

 

กว่า 1,400 รายตกค้างรอเตียง

 

ส่วนที่ปรากฏข่าวว่ามีหญิงชราเสียชีวิตในระหว่างรอเตียงนั้น นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า "ในนาม ศบค. ต้องกราบขออภัยประชาชนทุกท่าน ทุกสายที่รอโทรเข้าสายด่วนทั้ง 3 เบอร์" โดยล่าสุด พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือที่รู้จักในชื่อ "ศบลค. ชุดเล็ก" ได้รับอนุญาตจากปลัด สธ. ให้บูรณาการสายด่วนแล้ว โดยจะจัดทีมขึ้นมาดูแลอีก 50 คู่สาย และจำแนกผู้ป่วยเป็นกลุ่มเขียว เหลือง แดง

 

นพ. ทวีศิลป์อ้างข้อมูลจากกรมการแพทย์เกี่ยวกับผู้ป่วยรอเตียง พบว่ามี 1,423 ราย โดยวันนี้มีเพิ่ม 264 คนในรอบ 24 ชม. ทว่าวานนี้ (22 เม.ย.) ได้ทำงานไปแล้ว และทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการรักษา 474 ราย

 

"ตอนนี้มีตัวเลข 1,423 รายที่ ศบค. ชุดเล็กตั้งต้นมา และจะรีบให้ประชาชนได้เข้ารับบริการ" โฆษก ศบค. กล่าว

 

นอกจากนี้โฆษก ศบค. ยังปฏิเสธข่าวลือเรื่องการประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว หลังตัวเลขผู้ป่วยทะลุเกิน 2 พันราย พร้อมยืนยันว่ายังไม่มีการหารือเรื่องนี้ทั้งในการประชุม ศบค. ชุดเล็ก หรือที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

BBC

 

ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันรายแรกเมื่อ 12 ม.ค. 2563 เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ก่อนเกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศนับจากนั้น ขณะนี้ถือเป็นการระบาดระลอกสาม (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564) เริ่มต้นจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ ก่อนที่ไวรัสร้ายจะกระจายตัวไปใน 77 จังหวัด

 

วันเดียวป่วย 2 พัน ดันยอดสะสมทะลุ 5 หมื่นราย

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้

 

  • มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,070 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,062 ราย (จากการเฝ้าระวัง 1,902 ราย, จากการค้นหาเชิงรุก 160 ราย) และมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 50,183 ราย
  • มีผู้ป่วยสะสมการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. จำนวน 21,320 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 4 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 121 ราย
  • ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (740 ราย), เชียงใหม่ (237 ราย), ชลบุรี (125 ราย), สมุทรสาคร 79 ราย และสมุทรสาคร (48 ราย)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง