รีเซต

อ.นิติจุฬาฯ ชี้ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว ไร้มาตรวัดชัดเจน แนะยื่นศาลรธน.ตีความ

อ.นิติจุฬาฯ ชี้ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว ไร้มาตรวัดชัดเจน แนะยื่นศาลรธน.ตีความ
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 20:46 )
65
อ.นิติจุฬาฯ ชี้ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว ไร้มาตรวัดชัดเจน แนะยื่นศาลรธน.ตีความ

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์แนวทางกฎหมายต่อกรณีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อาจปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า หากมีการดำเนินคดีขึ้นในข้อกำหนดดังกล่าวจะขึ้นต่อศาลยุติธรรม ประชาชนสามารถยกข้อต่อสู้ได้และบอกว่าข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถ้ามีการร้องแบบนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ต้องหยุดการพิจารณาและศาลที่กำลังวินิจฉัยต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาวินิจฉัยว่าตัวข้อกำหนดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนว่าอะไรคือเฟคนิวส์ อะไรคือข้อความที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน ตัวข้อกำหนดดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐเพียงฝ่ายเดียวที่ใช้ดุลพินิจและชี้ว่านี้คือข้อความเฟคนิวส์ นี่คือข้อความที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวกับประชาชน เมื่อมาตรวัดไม่ชัดและเอื้อให้ภาครัฐฝ่ายเดียวในการกำหนดถือว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควรแก่เหตุขัดต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ คือรัฐอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้แต่ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ตอนนี้เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว และในหลักการของรัฐธรรมนูญหากจะจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพต้องมีความชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

 

 

ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า เมื่อมาตรวัดไม่มีความขัดเจนและขัดต่อรัฐธรรมนูญควรที่จะยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว แม้รัฐจะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ห้าม ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามปกติ มาบอกแบบนี้ไม่ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษทางอาญา แต่มาตรวัดไม่ชัดว่าอะไรคือเฟคนิวส์ และข้อความที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน ฉะนั้นเมื่อไม่ชัดอย่างนี้จึงส่งผลให้ประชาชนหรือสื่อไม่กล้านำเสนอ เพราะเกรงว่าในอนาคตถ้ารัฐชี้ว่าข้อความขัดต่อข้อกำหนดจะถูกลงโทษ จึงทำให้คนไม่กล้าใช้เสรีภาพ ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนต้องยกเลิกมาตรการในการดำเนินคดีกับประชาชน เพราะรัฐบาลเป็นผู้แทนของประชาชนในการเข้ามาบริหารราชการอาสาเข้ามาทำงาน เมื่ออาสาเข้ามาทำงานสื่อมวลชนและประชาชนตราบใดที่ใช้เสรีภาพโดยไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย แต่เป็นการพูดอภิปรายเรื่องการทำงานของรัฐบาลอย่างไรรัฐธรรมนูญก็คุ้มครอง และรัฐบาลต้องเคารพในการใช้เสรีภาพของประชาชน แล้วเป็นรัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้นนี่คือใจความสำคัญที่รัฐต้องเข้าใจ

 

 

 

ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ได้ใหญ่กว่ารัฐจะธรรมนูญ ฉะนั้นจะอ้างเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ ถ้าสุดท้ายหน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามได้ ดำเนินคดีได้ ต่อให้เป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้คุ้มครองการปฎิบัติหน้าที่ ฉะนั้นแม้จะมีการอ้าง มาตรา 17 ก็ไม่คุ้มครอง หากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือเป็นกรณีที่มีความจำเป็น หมายถึง เวลาที่บังคับใช้ข้อกำหนด ห้ามไม่ให้พูดถ้าเป็นลักษณะของการเข้าไปดำเนินคดีโดยไม่สุจริต หรือเลือกปฏิบัติฟ้องร้องแค่บางคนบางส่วน หรือข้อกำหนดนี้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกินสมควร จะถือว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มาตรา 17 ถ้าบังคับใช้ และประชาชนหรือสื่อได้รับผลกระทบสามารถฟ้องกลับได้ และเอา มาตรา 17 มาอ้างข้อคุ้มครองไม่ได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางวินัย

 

 

ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า อีกช่องทางคือการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญเขียนคุ้มครองว่า บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่คุ้มครองไว้สามารถยื่นคำร้องได้ ต้องยื่นผ่านตัวผู้ตรวจการแผ่นดินและพูดตรวจการแผ่นดินจะส่งไปให้กับศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยเห็นว่าการกระทำของรัฐเป็นการประเมินสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะมีการสั่งให้หยุดการกระทำ

 

 

“ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถออกมาเป็นมาตรการในการจำกัดสิทธิ์ได้ เพราะจะไม่ใช่การจำกัดสิทธิ์แต่เป็นการกำจัดสิทธิ์ ทำให้ไม่กล้าพูดไม่กล้าวิจารณ์ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรอง”ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง