รีเซต

อนาคต 'การบินไทย' เมื่อคนมีหุ้นการบินไทย ยังต้องลุ้น

อนาคต 'การบินไทย' เมื่อคนมีหุ้นการบินไทย ยังต้องลุ้น
TNN Wealth
23 เมษายน 2564 ( 11:26 )
454
อนาคต 'การบินไทย' เมื่อคนมีหุ้นการบินไทย ยังต้องลุ้น

 

ข่าววันนี้ วันนี้น่าจะเป็นอีกวันที่คนมีหุ้นการบินไทยในพอต์ต้องลุ้นกันหละว่า สถานะการบินไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาได้ยินกันบ่อยขึ้นคือการกลับสู่การเป็นรัฐวิสากิจ อีกรอบ อันนี้จริงไม่จริง ได้หรือไม่ได้ คนตัดสินคือนายกรัฐมนตรี รึเปล่า เพราะถ้าอาศัยผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ กับเจ้าหนี้ ตอนนี้ก็ตอบลำบากคุยกันไม่จบ

 


ดังนั้น จึงยังต้องลุ้นกันต่อไปว่า เจ้าหนี้จะเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูของผู้ทำแผนหรือไม่ และหากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบก็จะส่งผลให้การบินไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย คำถามคือระหว่างทางที่จะไปถึงวันนั้น หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จึงเปิดให้มีการซื้อขายหุ้น บมจ.การบินไทย(THAI) เป็นเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.-17 พ.ค.64) โดยเปิดให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance หมายถึงผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหุ้น

 


รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่เข้าแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยภายใต้กระบวนการของศาลล้มละลายกลางเพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จและถูกทาง

 


โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าร่วมประชุม

 


จากที่ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้พบกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้นำข้อเรียกร้องจากเจ้าหนี้ที่ต้องการให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม เพื่อแลกกับให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

 


“ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายเจ้าหนี้เสนอมา เพราะหากไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของการบินไทยก็จะหายไปเรื่อย ๆ เหลือแต่ฝูงบินเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เจ้าหนี้ก็จะไม่รับแผน การบินไทยก็จะล้มละลาย”

 


โดยฝ่ายรัฐจะต้องถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งวิธีการมีหลากหลาย อาทิ ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม หรือให้กองทุนวายุภักษ์ขายหุ้นการบินไทยออกมา 3% ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้แผนดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ได้รับทราบแล้ว  

 


ซึ่งในทางฝั่งกระทรวงคมนาคมซึ่งถือเป็นผู้ที่เคยกำกับดูแลการบินไทยมองว่าหากจะแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและเดินหน้าต่อไปได้ จะมีการเสนอความเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย

 


แนวทางที่ 1. ให้การบินไทยเดินหน้าเข้ากระบวนการแผนฟื้นฟูตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติ 
แนวทางที่ 2. จัดตั้งสายการบินแห่งชาติของไทยขึ้นมาใหม่ ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยมีบริษัทโฮลดิ้ง เป็นผู้กำกับ ซึ่งแนวทางนี้มองว่าจะสามารถสร้างสายการบินแห่งชาติขึ้นมาและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้โครงสร้างบริษัทใหม่ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของต้นทุนดำเนินการที่ไม่สูงมาก และไม่มีภาระ ขณะเดียวกัน สายการบินแห่งชาตินี้จะมีแผนดำเนินการทั้งแผนการตลาด พาณิชย์ ที่ชัดเจนว่าดำเนินการอย่างไรบ้าง

 


สำหรับสาเหตุที่ทางกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยที่จะให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมองว่าหากกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากทางคณะจัดทำแผนฟื้นฟู จะเสนอให้เพิ่มทุนการบินไทย 50,000 ล้านบาทในปีแรกแล้ว ในแผนที่ทางคณะจัดทำแผนยังเสนอแผนที่จะให้มีการเพิ่มทุนอีกใน 3 ปี ปีละ 50,000 ล้านบาทอีกด้วย 

 


นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จะทำให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากภาระหนี้สินของการบินไทย ที่ประเมินว่ามีหนี้สินที่ 140,000 ล้านบาท ในขณะที่ความเป็นจริงการบินไทยมีหนี้สินกว่า 600,000 ล้านบาท กลับมาเป็นหนี้สาธารณะทันที 

 


อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะเสนอหากแนวทางการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่ได้รับการยอมรับและเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และ ครม. ทางกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะเป็นผู้เข้ามาเป็นคนดำเนินการจัดตั้งและผลักดันจัดตั้งให้สำเร็จและเดินหน้าต่อไปภายใต้การตั้งบริษัทใหม่

 


อันนี้เป็นข้อมูลหนึ่งที่ให้นักลงทุนผู้มีหุ้นการบินไทยในพอร์ต ตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการอย่างไร 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง