ส.ผู้ค้าปลีกไทย สำรวจธุรกิจ52% ลั่นปรับราคา10% ร้องรัฐอุ้ม 3 เรื่อง
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนเมษายน 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 56.4 หรือเพิ่มขึ้น 9.9 จุด เทียบกับดัชนีเดือนมีนาคมอยู่ที่ 46.5 จุด อานิสงส์จากช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน รวมถึงส่งเสริมการขายของร้านค้าต่างๆ และข่าวเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกอีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 10.3 จุด จากระดับ 48.9 จุดเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 58.7 จุดในเดือนเมษายน สะท้อนเชื่อมั่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอน ซึ่งกำลังเป็นช่วงขาลง และรัฐบาลจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ ผลการสำรวจยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 9.9 จุด และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลาง 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนนับจากเดือนธันวาคม 2564 การเพิ่มขึ้นในลักษณะ K-Shape ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะที่บางส่วนยังไม่ฟื้นตัวและคงอยู่ระดับต่ำ ทำให้การฟื้นตัวไม่ครอบคลุมทุกประเภทร้านค้า สำหรับร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ความงาม และภัตตาคาร-ร้านอาหาร ถือว่าเป็น K-Shape ขาขึ้นที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากนโยบายการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และการยกเลิกเทสต์แอนด์โก สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งการปลดล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดของ ทุกจังหวัดเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางและดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ K-Shape ขาลง และมีสัดส่วนกว่า 65% ของภาคค้าปลีกทั้งประเทศ กลับเติบโตน้อย สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากการจ้างงานยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายส่งเสริมและอุดหนุนของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงการของภาครัฐฯ สามารถ พยุงเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในกลุ่มสินค้าหรือบริการผ่านโครงการประชารัฐ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ก่อให้เกิดผลบวกต่อผู้ประกอบการภาคการค้าปลีก ภาคการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่น่าพอใจ
” เมื่อถามถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อภาคการค้า พบว่า 70% ระบุมีผลต่อต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น โดย 52% ระบุปรับราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้าและไม่เกิน 10% ตามด้วย 44% ระบุปรับราคา 11- 20% และ 4% ปรับราคาเกิน 20% อีกทั้ง 87% ระบุจะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือนข้างหน้า ” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกมี 3 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิด การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายโครงการของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 2. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ภาครัฐควรมีการอนุมัติการลงทุนและดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างการดำเนินงาน และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น และ 3.พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด ภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการในการช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนผ่าน การพยุงราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าครองชีพไม่ปรับตัวแบบก้าวกระโดด อาทิ การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง
“ช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาครัฐในการใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลัง ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายของภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และควรผลักดันให้มีมาตรการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายฉัตรชัย กล่าว