หอการค้า 5 ภาค ถกทางออกประเทศ ย้ำวัคซีนคือคำตอบ วอนรัฐเร่งคัดกรองเดินทางข้ามจังหวัด-ผุดมาตรการเยียวยา
วันที่ 27 กรกฎาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวผลประชุมระบบทางไกล กับประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคทั้ง 5 ภาค เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยได้รับฟังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด ว่า ส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการคัดกรองเข้มข้นเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนในการกลับภูมิลำเนา รวมถึงความสามารถของระบบสาธารณสุขที่เริ่มมีจำกัด โดยประธานหอการค้า 5 ภาค เห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญเร่งด่วนในตอนนี้คือต้องมีวัคซีนจัดสรรไปเพื่อการควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดและต้องมีมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้สถานการณ์ในต่างจังหวัดลุกลามไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ มีความเห็นบางส่วนจากประธานหอการค้าภาค 5 ภาค ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
สำหรับหอการค้าภาคเหนือ โดย นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานหอการค้าภาคเหนือ มีข้อเสนอให้เข้มงวดด้านการเดินทางเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนา
ส่วนหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคอีสานกล่าวว่าปัจจุบันแรงงานภาคอีสานที่ทำงานในกรุงเทพทยอยเดินกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ประกอบกับหลายจังหวัดมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องเฝ้าระวังเรื่องการลักลอบเข้าประเทศ จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการคัดกรองการเดินทางให้ชัดเจน
หอการค้าภาคกลาง โดยธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานหอการค้าภาคกลางกล่าวว่าในพื้นที่ภาคกลางเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดของประเทศ ดังนั้น หากสามารถจัดให้มีการตรวจเชิงรุกในเขตอุตสาหกรรมก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นลดน้อยลงได้
สอดคล้องกับความคิดเห็นของหอการค้าภาคตะวันออก โดยนายปรัชญา สมะลาภา ประธานหอการค้าภาคตะวันออกที่มองว่าหากไม่สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดในเขตโรงงานได้ อาจจะกระทบกับภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศในที่สุด
และหอการค้าภาคใต้ นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานหอการค้าภาคใต้กล่าวถึงความสำเร็จเบื้องต้นในการเปิด Phuket Sand Box และสมุย พลัส ถือเป็นต้นแบบและก้าวแรกที่สำคัญในการขยายผลต่อ ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงจะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อให้การขยายผลโมเดลดังกล่าวช่วยฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่
นอกจากนี้ หอการค้า 5 ภาค ยังมีข้อเสนอเสริมจากประเด็นที่หอการค้าไทย และ 40 CEOs นำเสนอต่อรัฐบาลไว้ ซึ่งแต่ละภาคได้สอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการและสมาชิก โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ เร่งด่วน คือ
มาตรการควบคุมการระบาด
1. การป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดในตลาด และโรงงาน (คัดกรอง, Bubble & Seal, Factory Isolation)
2. จัดสรรพื้นที่พักคอยสำหรับแรงงานต่างด้าว ที่จะเดินทางกับประเทศ ณ พื้นที่ชายแดน เพื่อลด
ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น
3. การตรวจเชื้อเชิงรุกด้วย Rapid Test Kit เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โดยจัดให้มีการกักตัว Home Isolation และ Community Isolation และสื่อสารแนวทางปฏิบัติแต่ละอย่างให้ชัดเจน
4. ให้นำงบประมาณการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด (งบฉุกเฉิน) ออกมาใช้แก้ไขสถานการณ์ตามที่จำเป็น อาทิ การจัดตั้งด่านควบคุมคัดกรองระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยใช้ Antigen test kit คัดกรองเบื้องต้น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาที่มีจำนวนผู้ป่วยเกินขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข
5. ควบคุมราคา และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสมุนไพรที่สามารถลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ COVID-19 อย่างทั่วถึง อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานภาครัฐให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพร และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกมากขึ้น โดยมีมาตรการดูแลไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดหรือให้มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน
6. ขอให้ภาครัฐมีแนวปฏิบัติให้กับสถานประกอบการทำแผนฉุกเฉิน (กรณีพนักงานในร้านติด COVID-19) เพื่อสามารถบริหารจัดการไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยร้านค้าสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดกิจการทั้งหมด
7. การส่งตัวผู้ป่วยไปยังพื้นที่อื่นๆ หรือภูมิลำเนา ที่ยังมีความสามารถในการรองรับและดูแลผู้ป่วยได้ ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและอาการความรุนแรงของการติดเชื้อ เพื่อลดปัญหาการดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึง
มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ
1. เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประคองกิจการ และการจ้างงานต่อไปได้ จึงมีข้อเสนอสำคัญ ได้แก่
การเติมทุน, ลดค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าธรรมเนียม, การคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า)
การพักชำระหนี้ และพักหนี้ โดยพิจารณาทั้งระยะเวลา จำนวนเงิน และพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมให้เหมาะสม
2. การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs โดยแก้ปัญหาการเข้าถึง และเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อฟื้นฟู Soft Loan และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ Asset Warehousing
3. พิจารณาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู SMEs โดยใช้หลักการเดียวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
4. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น SMEs รวมถึง การให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ยังจ่ายชำระหนี้ปกติให้กับธนาคาร
5. ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในอัตรา 2.5% จากเดิม 3 เดือน เป็น 12 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย
6. ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย และภาษีอื่น ออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือ ในประเด็นการเปิดประเทศ ที่ได้มีการทยอยขยายผลจาก Phuket Sandbox ไปยังพื้นที่อื่น โดยมองว่านี่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ประเทศไทยยังสามารถคุมสถานการณ์ได้ที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันชาวภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 4 แสนคน หรือคิดเป็น 87% โดยประมาณของประชากรทั้งหมด และถึงแม้ในระยะแรกจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันให้พื้นที่นี้ปลอดการแพร่ระบาดเพื่อรอการฟื้นตัวของประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่ในขนาดนี้คือต้องควบคุมการแพร่ระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้ได้เร็วที่สุดเพราะถือเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงผลักดันให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
โดยแผนการดำเนินการของทุกมาตรการต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการประมวล ติดตามผลของมาตาการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน กระชับและมีเอกภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจและเตรียมความพร้อมได้อย่างถูกต้อง โดยหลังจากนี้ทุกภาคส่วนต้องวางแผนการรับมือถึงสถานการณ์ที่อาจจะมีการยกระดับการควบคุมการเดินทางนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ข้อเสนอต่างๆ หากรัฐบาลเร่งดำเนินการออกมาจะทำให้การระบาดของ Covid-19 ลดน้อยลง และจะช่วยพยุงภาคธุรกิจให้เดินหน้าไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายต่อไป