รีเซต

เจ้าสาวตายกลางงานแต่ง เจ้าบ่าวเลยแต่งงานกับน้องสาวแทน สะท้อน "ชายเป็นใหญ่"

เจ้าสาวตายกลางงานแต่ง เจ้าบ่าวเลยแต่งงานกับน้องสาวแทน สะท้อน "ชายเป็นใหญ่"
TNN World
4 มิถุนายน 2564 ( 09:34 )
252

Editor’s Pick: เจ้าสาวเสียชีวิตกลางงานแต่ง เจ้าบ่าวเลยสมรสกับน้องสาวของว่าที่ภรรยาแทน
นี่เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วอินเดีย 

 

 

เจ้าสาวตายกลางงานแต่ง น้องสาวเลยแต่งแทน


เหตุการณ์นี้เกิดในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 
สุรสี เจ้าสาวที่กำลังร่วมพิธีแต่งงาน ได้ทรุดลงกลางงานแต่ง เมื่อแพทย์เดินทางมาถึง จึงพบว่า เจ้าสาวได้เสียชีวิตแล้ว

 


แต่สิ่งที่แพทย์ตกใจมากกว่าเจ้าสาวที่ตายกลางพิธีวิวาห์ คือ แทนที่พิธีสมรสจะหยุดลง กลับกลายเป็นว่าครอบครัวของเจ้าบ่ายและเจ้าสาว ตกลงให้เจ้าบ่าว คือ มาโนจ กุมาร์ แต่งงานกับหนึ่งในน้องสาวของเจ้าสาว ชื่อ นิชา แทน

 


น้องชายของสุรสี ผู้ตาย เล่าให้สื่อฟังว่า “เราไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน สองครอบครัวเลยคุยกัน แล้วมีคนโพล่งขึ้นมาว่า งั้นก็ให้นิชา น้องสาวผมแต่งงานแทนสิ”

 


“พวกเราเลยปรึกษากัน และเห็นพ้องตามนั้น” 
ที่น่าประหลาดยิ่งกว่า คือ ร่างไร้วิญญาณของสุรสี ยังอยู่ในห้องที่จัดพิธีวิวาห์ เสมือนเป็นสักขีพยานการแต่งงานของน้องสาว กับว่าที่สามีของตนเอง

 

 

แต่งงานเพราะความรัก..ไม่มีอยู่จริง?


พิธีสมรสที่น่าแปลกประหลาดนี้ กลายเป็นพาดหัวข่าวทั่วอินเดีย รวมถึงกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘ความวิปริต’ ที่เกิดขึ้น

 


“นี่มันบ้ามาก จะเป็นวันแต่งหรือไม่...คนตายทั้งคนนะ ควรจะเคารพเจ้าสาวที่เสียชีวิตบ้าง มันน่าเหลือเชื่อมาก” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งทวีต

 


อีกคนเขียนว่า “คนเราแต่งงานกันเพราะความรักจริงหรือ? หรือความรักมันเป็นเรื่องโบราณไปแล้ว”
“มีใครสนใจพี่สาวที่ตายไปบ้าง”

 

 

น้องสาวที่แต่งแทนยินยอมหรือไม่?


สังคมออนไลน์จีนอย่าง Weibo พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยตั้งคำถามว่า น้องสาวที่สวมรอยแต่งงานแทน ยินยอมพร้อมใจหรือไม่ ขณะที่บางส่วนวิจารณ์เจ้าบ่าวว่า อย่างน้อยก็รอจนทำพิธีศพ 'ว่าที่ภรรยา' ก่อนไหม

 


ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนบางส่วนมองว่า เหตุที่ต้องให้น้องสาวผู้ตายแต่งงานแทน เพราะครอบครัวเจ้าบ่าวไม่อยากคืนเงินค่าสินสอดให้ครอบครัวเจ้าสาว

 


นักสังคมศึกษาระบุว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงสังคมชายเป็นใหญ่แบบสุดโต่ง และสังคมที่ไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างสิ้นเชิงในอินเดีย โดยเฉพาะการที่สังคมให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในการสมรส แม้แต่สินสอด ก็เป็นฝ่ายครอบครัวเจ้าสาวที่ต้องมอบให้ฝ่ายชาย

 

 

 

สังคมที่มนุษย์ไม่มีสิทธิเลือกคู่ครอง


“การแต่งงานในอินเดียส่วนใหญ่ เป็นการคลุมถุงชนของครอบครัวสองฝ่าย ตัวผู้หญิงและผู้ชายแทบไม่มีสิทธิเลือกคู่ครองของตนเอง” คาเม อัปปุน ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเดลี กล่าว

 


“กรณีของสุรสีก็เช่นกัน ผู้ใหญ่ในครอบครัวคงคิดว่า ให้ลูกสาวอีกคนออกเรือนไปคงดีกว่า แต่มีใครคิดถึงหัวอกของน้องสาวบ้าง ใครจะคิดถึงความรู้สึกที่เธอต้องอยู่กับมันไปทั้งชีวิต กับตราบาปที่ต้องแต่งงานกับว่าที่สามีของพี่สาวตัวเอง”

 


ดอกเตอร์ รันจนา กุมารี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคม ซึ่งเป็นองค์กรระดมสมองในกรุงนิวเดลี มองว่า นี่คือหลักฐานชัดเจนของ ‘การบังคับแต่งงาน’ ด้วยข้ออ้างถึงธรรมเนียมประเพณี

 


“มันเป็นระบบที่เอาเปรียบมาก แต่ไม่น่าแปลกใจ เพราะ 95% ของการแต่งงานในอินเดีย เป็นการตกลงกันระหว่างครอบครัว”

 

 

ธรรมเนียมวิปลาศที่เกิดขึ้นทุกชั้นวรรณะ


ดอกเตอร์ รันจนา เปิดเผยอีกว่า องค์กรของเธอพบกรณีที่เจ้าบ่าว แต่งงานกับน้องสาวหรือพี่สาวของเจ้าสาว ในกรณีที่เจ้าสาวหลักเสียชีวิต มาแล้วหลายกรณี ในรัฐอุตตรประเทศ พิหาร และราชาสถาน

 


“กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดกับวรรณะต่ำในสังคมเท่านั้น แต่วรรณะสูง ๆ ก็เกิดขึ้นเช่นกัน”

 


แล้วกรณีที่พี่สาวที่ตายไปมีลูก สถานการณ์ของน้องสาวที่แต่งงานแทนยิ่งแย่ใหญ่ เพราะ “ตัวน้องสาวจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีลูก เพื่อที่จะได้ทุ่มเทกับการดูแลลูก ๆ ของพี่สาวที่ตายไป”

 


บทบาทของน้องสาว หรือพี่สาวที่แต่งงานแทน “จึงไม่ใช่ภรรยา แต่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ที่ต้องเสียสละตัวเอง มาเป็นแม่ให้เด็กที่ไม่ใช่ลูกของตนเอง”

 

 


—————
เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: INDRANIL MUKHERJEE / AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง