"อพท." จับมือ 7 องค์กรขับเคลื่อนโครงการคาร์บอนบาลานซ์ ช่วยลดโลกร้อน
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme)
งานลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชุมชนท่องเที่ยว นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดโลกร้อน
บทบาทที่ทั้ง 8 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ภายใต้โครงการ คาร์บอนบาลานซ์ ได้แก่ (1) ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย (2) สนับสนุนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรม บริการ และนวัตกรรม ที่จัดการด้วยแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดงานไทย (3) ส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไทยและการจัดงานไมซ์ให้มีการนำแนวทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปใช้ในการจัดการและเข้าถึงแนวทางการออกแบบและสามารถชดเชยคาร์บอนได้โดยสะดวก (4) ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด BCG Model คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกิดการพัฒนา และปรับตัวเข้ากับกระแสท่องเที่ยวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรม เครื่องมือ และองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยว รวมถึงรณรงค์ให้เกิดกระแสของการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในหมู่นักท่องเที่ยวและประชาชน นำไปสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบคาร์บอนต่ำ หรือปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการเรื่องดังกล่าวต้องเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนั้นภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้กับ 8 หน่วยงาน จึงนับเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวสีขาว คือสะดวก สะอาด ปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อม
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี กล่าวว่า อพท. จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากที่เคยดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำจนมีพื้นที่ต้นแบบที่เกาะหมาก จังหวัดตราด จนได้รับรางวัล PATA Gold Awards สาขาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ – สิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมการขับเคลื่อนโครงการฯ ในครั้งนี้ เพื่อร่วมยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ให้เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นระบบ เพราะจากการทำงานของ อพท. ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เรามีองค์ความรู้ด้านการคำนวณ การลด การชดเชย และ การเชื่อมโยงสู่ภาคการตลาดต่อไป และ อพท. ยังมีแผนที่จะยกระดับกิจกรรมของชุมชนให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสามารถเลือกชดเชยคาร์บอนในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อันจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในตลาดสากล นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป