รีเซต

สรุปสถานการณ์ "เขื่อนเจ้าพระยา" วันนี้ หลังชาวบ้านจมน้ำนานกว่า 2 เดือน

สรุปสถานการณ์ "เขื่อนเจ้าพระยา" วันนี้ หลังชาวบ้านจมน้ำนานกว่า 2 เดือน
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2565 ( 08:34 )
173
สรุปสถานการณ์ "เขื่อนเจ้าพระยา" วันนี้ หลังชาวบ้านจมน้ำนานกว่า 2 เดือน

เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำต่อเนื่อง

เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้ลดอัตราการระบายน้ำลงไปอยู่ที่ 3,058 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนระดับน้ำลดลง 10 เซนติเมตร แต่ก็ยังคงเอ่อล้นสูงกว่าตลิ่ง 83 เซนติเมตร

ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนในอำเภอสรรพยา ต้องอพยพขึ้นมาสร้างเพิงพักและกางเต็นท์นอนริมถนน จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 2,500 ครัวเรือนแล้ว โดยอำเภอสรรพยา มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 6 ตำบลจากทั้งหมด 7 ตำบล


 น้ำท่วมอยุธยา ยังสาหัส


ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังสาหัส หลังมวลน้ำจากคลองบางบาล เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว  ถนนสายบางบาล-ผักไห่ เส้นทางหลักที่ใช้สัญจรระหว่างอำเภอ ต้องปิดการจราจร หลังระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นข้ามถนน ส่วนระดับน้ำในชุมชน และ พื้นที่ลุ่มต่ำ ท่วมสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และห่างอีกเพียงไม่กี่เซนติเมตร ระดับน้ำท่วมก็จะเท่ากับปี 2554 แล้ว



ประชาชนหลายครอบครัว ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตนเองได้ ต้องหอบหิ้วนำทรัพย์สินมีค่า รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง ขึ้นมาอยู่อาศัยบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น ริมถนนเลียบคลองชลประทาน  ลานวัดธรรมจักร  แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม  อีกหลายครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งต้องคอยนำอาหารและน้ำดื่มเข้าไปให้



จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่น้ำท่วมหนัก 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 90 ตำบล 574 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 31,802 ครัวเรือน  


วัดนอกคันกั้นน้ำ จ.ปทุมธานี ยังถูกน้ำท่วม







สภาพวัดไก่เตี้ย ที่ตั้งอยู่ในตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่นอกแนวคันกันน้ำ ตอนนี้น้ำจึงเอ่อเข้าท่วม บริเวณวัดทั้งโบสถ์ วิหาร เมรุ และศาลาการเปรียญ ไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ ได้ และวัดไก่เตี้ยยังเป็นวัดที่รับเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้จำนวนมาก เช่น วัวและควาย ที่มีถึง 10 ตัว ต้องนำไปเลี้ยงบนศาลาหอสวดมนต์ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง 


ด้าน พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี บอกว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวานนี้(16 ต.ค.) เป็นวันสุดท้ายทมี่ในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง  มั่นใจว่าจังหวัดปทุมธานีรอดจากช่วงวิกฤตแล้ว แต่ก็ยังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือที่เร่งระบายลงมา จึงได้เตรียมการช่วยเหลือแล้วทั้งหมด  



กทม.เร่งพร่องน้ำรับน้ำเหนือ-พายุฝน


ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า พายุฝนอีกลูกที่จะเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ไม่มากนัก แต่ กทม.ได้เตรียมพร่องน้ำเพื่อรับมือไว้แล้ว  ที่เป็นห่วงและยังต้องเฝ้าระวัง คือปริมาณน้ำเหนือ และปริมาณน้ำฝน โดยคาดว่าจะมีระดับน้ำขึ้นสูงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่ก็รู้จุดอ่อนเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น เช่น เขตบางพลัด ที่เกิดรอยรั่วบริเวณใต้เขื่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องจัดการแก้ไขต่อไป หรือเขตอื่นๆ ซึ่งจุดเหล่านี้ต้องเร่งเสริมจุดอ่อนให้มากขึ้นก่อนที่น้ำจะมาอีกระลอก






ภาพ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง