รีเซต

ธปท.แจง หนี้ครัวเรือนพุ่งกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว

ธปท.แจง หนี้ครัวเรือนพุ่งกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2566 ( 09:59 )
43

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีว่า ธปท.ปรับปรุงจำนวนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยให้ครอบคลุมในทุกส่วนมากขึ้น โดยได้ปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1 ปี 2555 

สำหรับหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 หลังปรับปรุงข้อมูลแล้วพบว่ามียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 766,000 ล้านบาท หรือมียอดคงค้างรวมเพิ่มขึ้นจาก 15.2 ล้านล้านบาท เป็น 16 ล้านล้านบาท และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 86.3 เป็นร้อยละ 90.6 

โดยยอดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 4.3 นั้นมาจากผู้ให้กู้ยืม 4 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. 483,000 ล้านบาท สหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์") 256,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี ธปท. มองว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ธปท.กังวลเพิ่มขึ้นจากเดิม และหนี้ส่วนใหญ่มาจากหนี้เพื่อการศึกษาและเพื่อประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ธปท.คาดว่าาภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในอนาคตมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 

นอกจากนี้ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีนิยามสากลของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน แต่ข้อมูลหนี้ครัวเรือนของไทยครอบคลุมครบถ้วนมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ ทั้งในมิติของผู้ให้กู้และเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยมีข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่อยู่นอกระบบ เงินที่ครัวเรือนกู้ยืมกันเอง และครัวเรือนกู้ยืมจากภาคธุรกิจ ซึ่งอาจจะต้องมีการประเมินและสำรวจเพิ่มเติมในอนาคต 

ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง