รีเซต

เปิดรายชื่ออาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันไวรัส เอาตัวรอดช่วง ‘โควิดระบาด’

เปิดรายชื่ออาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันไวรัส เอาตัวรอดช่วง ‘โควิดระบาด’
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2564 ( 09:12 )
102
เปิดรายชื่ออาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันไวรัส เอาตัวรอดช่วง ‘โควิดระบาด’

ในระยะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3 ยอดเสียชีวิตและผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 อาหารการกินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากเชื้อร้ายได้ เรามาดูกันว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานคุ้มกันเราจากไวรัสต่างๆ

1.วิตามินซี ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค โดยความต้องการต่อวันตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ในเด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับ 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับ 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน และวัยผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 85-100 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งแหล่งวิตามินซีในอาหารจะอยู่ในผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่ อาทิ ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะโรงเรียน สตอว์เบอร์รี่ มะละกอ หรือแม้แต่กระทั่งทุเรียนก็ตาม 


2.วิตามินเอ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยแหล่งอาหารที่ดีที่ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์ได้สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม และแหล่งอาหารรองลงมาจะได้จากพืช ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก

3. สังกะสี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแหล่งอาหารที่ดีเมื่อพิจารณาจากปริมาณและการดูดซึมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์และเครื่องใน หอยนางรม สัตว์ปีกและปลา และที่รองลงมา ได้แก่ ไข่ นม


4.จุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติกส์) และอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ (พรีไบโอติกส์) ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย โดยแหล่งอาหารที่ดีที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ ได้แก่ โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่ระบุไว้ว่ามีการเติมโพรไบโอติกส์ แต่ควรเลือกที่น้ำตาลต่ำ สำหรับอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง


อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าวิตามินหรือแร่ธาตุตัวไหนจะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่สามารถเป็นแนวทางในการเลือกแหล่งอาหารที่ดี มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ได้

 

ข้อมูลอ้างอิง : นิตยสาร @rama ดร.วนพร ทองโฉม  นักวิชาการโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง