ทำไมชาวโอกินาวาไม่เอาทหารอเมริกัน สร้างประโยชน์ หรือ ก่อปัญหา

“โอกินาวา” เป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมาเป็นเวลานานด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่น หาดทรายสวยงามและน้ำทะเลสีเทอร์ควอยซ์ นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามแล้วนักท่องเที่ยวยังสามารถสนุกสนานกับกีฬาทางน้ำต่าง ๆ ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาเปิดประสบการณ์ แต่สิ่งที่หลายคนลืมคิดไปคือเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “ฐานทัพสหรัฐฯ” ที่กินพื้นที่ของเกาะมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีพันธกิจเพื่อปกป้องความมั่นคงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
เป็นที่ทราบกันว่า “กองทัพสหรัฐฯ” เป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนนายทหารและจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มี จึงไม่แปลกที่กองทัพที่ใหญ่ขนาดนี้จะมีฐานทัพของตัวเองกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศ และหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กองทัพสหรัฐฯ เลือกเข้ามาตั้งฐานทัพ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อประชาชนบนเกาะโอกินาวาเริ่มไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของฐานทัพสหรัฐฯ เพราะมันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งพวกเขายังมองว่ามันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมของเกาะด้วย แต่สิ่งที่ชาวโอกินาวามองว่าเป็นความเจ็บปวดคือฐานทัพสหรัฐฯ ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็น “เจ้าของบ้านที่ถูกล่ามโซ่”
- ประวัติการต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ
การต่อต้านของชาวโอกินาวาเรียกได้ว่าอาจเริ่มขึ้นจากประเด็นที่มีทหารสหรัฐฯ 3 นายทำการข่มขืนหมู่เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี บนเกาะโอกินาวาเมื่อปี 1995 ที่สร้างความทรงจำที่แสนเจ็บปวดให้กับเธอ จากเหตุการณ์นั้นทำให้ชาวโอกินาวากว่า 80,000 คน ตัดสินใจลงถนนประท้วงการมีอยู่ของฐานทัพสหรัฐฯ และในปี 2016 มีการจับกุมนายทหารที่ต้องสงสัยว่าสังหารผู้หญิงชาวโอกินาวาคนหนึ่ง จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่อีกรอบ
จากความไม่พอใจเหล่านี้และแรงกดดันจากประชาชน ทำให้ทางการญี่ปุ่นตกลงทําข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อคืนดินแดนที่ฐานทัพสหรัฐฯ ให้กับชาวโอกินาวา จึงทำให้สมาชิกนาวิกโยธินสหรัฐประมาณ 4,000 นาย ถูกย้ายไปที่ “กวม” เกาะในปกครองของสหรัฐฯ และทำให้โอกินาวากลับมาเป็นดินแดนในฝันของประชาชนบนเกาะแห่งนี้อีกครั้ง
จากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณโดยมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น 2 แห่งเมื่อปี 2023 พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวโอกินาวามองว่าการมีอยู่ของฐานทัพสหรัฐฯ ในจังหวัดของพวกเขานั้นไม่ยุติธรรม แต่ถึงแม้ว่าประชาชนจะแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน แต่ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่งเช่นเคย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ต่ออายุข้อตกลงด้านความปลอดภัยกับญี่ปุ่น ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือ รวมไปถึงความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและไต้หวัน
- ฐานทัพสหรัฐฯ ปกป้องโอกินาวาหรือไม่
เสียงจากชาวโอกินาวาแตกออกเป็น 2 ฝั่ง บางคนไม่สนใจและไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของฐานทัพสหรัฐฯ แต่บางส่วนให้การสนับสนุนฐานทัพสหรัฐฯ ด้วยความหวังว่าฐานทัพของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะช่วยปกป้องเกาะของพวกเขาได้เมื่อเกิดความขัดแย้งใดใดก็ตามขึ้นและเพราะเหตุนี้กลุ่มคนที่สนับสนุนจึงไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ถอดฐานทัพออกจากโอกินาวา ผนวกกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ทําให้มั่นใจได้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะช่วยปกป้องญี่ปุ่นซึ่งก็รวมไปถึงชาวโอกินาวาด้วย
ในขณะที่ โคซุเอะ อากิบายาชิ ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโดชิชา กลับมองต่าง โดยกล่าวว่ากองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อปกป้องชาวโอกินาวา มันเป็นเหมือนจินตนาการที่ลอยอยู่รอบ ๆ เสียมากกว่า และไม่ใช่แค่ชาวโอกินาวา แต่สหรัฐฯ กำลังพยายามทำให้ภาพลักษณ์ของการมีทหารในประเทศต่าง ๆ หมายถึงการรับรองความปลอดภัย
ส่วน พอล โอเชีย อาจารย์อาวุโสจากศูนย์การศึกษาเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดนกล่าวว่า ฐานทัพสหรัฐฯ ทําให้โอกินาวาตกเป็นเป้าหมายของจีน แต่ขณะเดียวกัน โอเชีย มองว่าฐานทัพก็มีส่วนช่วยในการรักษาสันติภาพได้เช่นกัน
- ฐานทัพสหรัฐฯ เป็นภาระของโอกินาวาหรือไม่
นอกจากผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยและการทูตแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเคยกล่าวว่าฐานทัพสหรัฐฯ ในโอกินาว่านั้นเป็นธรรม เนื่องจากการมีอยู่ของฐานทัพมอบชีวิตให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แม้โอกินาวาจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่โอกินาว่าก็เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของญี่ปุ่น โดยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ของค่าเฉลี่ยในประเทศ รวมไปถึงโอกาสในการทํางานยังจํากัด ที่มีส่วนทําให้อัตราความยากจนอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ด้วย ยังไม่รวมนโยบายใหม่ของทรัมป์ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นจ่ายเงินให้สหรัฐฯ เป็นรายปีเพื่อการมีอยู่ของฐานทัพแห่งนี้ด้วย
เหมือนจะทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบแต่รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าฐานทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวาช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและจะนำรายได้มาให้ญี่ปุ่นมากกว่า ย่านช้อปปิ้ง American Village บนเกาะโอกินาวาสร้างรายได้จากลูกค้าทั้งชาวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยว รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารของฐานทัพสหรัฐฯ ได้กว่า 231 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ตามข้อมูลของรัฐบาลเมื่อปี 2015
วาตารุ นิชิโนะ เจ้าหน้าที่จากศูนย์นักท่องเที่ยวใกล้หมู่บ้านอเมริกันบนเกาะโอกินาวากล่าวว่าผลประโยชน์เหล่านี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสหรัฐฯ ต่อชาวโอกินาวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาวให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อฐานทัพสหรัฐฯ นอกจากนี้ย่านการค้าอเมริกันยังสร้างโอกาสในการทํางานให้กับชาวโอกินาวา ถ้าพวกเขาสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
แต่ เดนนี ทามากิ นายกเทศมนตรีเมืองโอกินาว่า ซึ่งไม่เห็นด้วยกับฐานทัพสหรัฐฯ มองว่างานเหล่านี้คิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของชาวโอกินาวา ในขณะที่หากฐานทัพสหรัฐฯ ส่งมอบที่ดินคืนให้กับญี่ปุ่นจะสร้างรายได้เกือบ 7 พันล้านดอลลาร์