ส่งชุดเฉพาะกิจตรวจเข้มจ้างงานต่างด้าว ป้องปรามแย่งอาชีพคนไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายและปล่อยแถวคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบการจ้างงาน สภาพการจ้างการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวรวมถึงดูแลสิทธิและสวัสดิการ การบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเข้มข้น รวมไปถึงตรวจคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง ต่อสถานการณ์การแสวงหาประโยชน์ หลอกลวง และบังคับใช้แรงงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดูแลคุ้มครองแรงงาน ว่าได้ให้นโยบายเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างโปร่งใส ปฏิบัติตามหลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน และห้ามปล่อยปะละเลยหากพบเห็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งงาน หรือ อาชีพสงวนของคนไทย โดยย้ำว่า แรงงานต่างด้าวจะสามารถทำงานได้เฉพาะอาชีพที่ได้รับการอนุโลมแล้วเท่านั้น
ขณะเดียวกันกำชับให้เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบการจ้างงานฯ เข้มงวดป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงตรวจสอบ จับกุม ผลักดันแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานเตรียมจะจัดระเบียบเปิดให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับอนุญาต หรือลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย มาขึ้นทะเบียนทำงานกับกรัทรวงแรงงานอย่างถูกต้อง ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ โดยจะเปิดให้นายจ้างพาลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเป็นเวลา 15 วัน ขณะเดียวกันในเดือนกุมพาพันธ์ 2568 ก็จะเปิดให้แรงงานที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กว่า 3 ล้าน 4 แสนคน มาต่ออายุการทำงานเพิ่มอีก 2 ปี ทั้งนี้หากเป็นแรงงานชาวเมียนมา และกัมพูชา ไม่ต้องเดินทางกลับไปขอยื่นต่ออายุการทำงานที่ประเทศต้นทาง เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศเข้ามาตั้งหน่วยให้บริการถึงไทย แต่หากเป็นแรงงานชาวลาว และเวียดนาม ต้องเดินทางกลับไปทำเรื่องที่ประเทศต้นทางของตัวเอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังเน้นย้ำว่า การปราบปราม จัดระเบียบคุ้มครองแรงงานต่างด้าวต้องทำอย่างเข้มงวด ทั้งขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและจับกุมผลักดันกลับประเทศหากพบแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ร่วมกับ ตม.จัดทำอัตลักษณ์บุคคลของแรงงานเก็บเป็นข้อมูลไว้ เพื่อที่หากพบแรงงานผิดกฎหมายที่ถูกจับได้แล้วผลักดันกลับประเทศ กลับเข้ามาใหม่จะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้หากไทยสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายได้ดีขึ้น จะส่งผลให้ปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ไทยมีความหวัง ที่จะได้รับการปรับจากเทียร์ 2 ขึ้นเป็นเทียร์ 1 ของประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นตํ่ากฎหมายการป้องกันและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์อย่าง ครบถ้วน