ผุดเซฟตี้ ทู เซฟตี้ แทรเวล เจรจาจีนแลกเปลี่ยนหมอ เปิดท่องเที่ยว 10 จว.
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในระหว่างบรรยายหัวข้อ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในการประชุมวิชาการแนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า กรมควบคุมโรค คาดการณ์โรคโควิด-19 รอบใหม่เป็น 3 ฉากทัศน์ คือ ฉากทัศน์ที่ 1 พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย (Spike only) ฉากทัศน์ที่ 2 พบผู้ติดเชื้อกับกลุ่มเล็กๆ (Spike and a small wave) และ ฉากทัศน์ที่ 3 พบผู้ติดเชื้อและมีการระบาด(Spike and a big wave)
“ฉะนั้น ในส่วนของการรายงานระดับสถานการณ์ในพื้นที่กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อ สธ.จะมีปรับใหม่เป็น 4 ระดับ ด้วยการประเมินความเสี่ยงของการระบาด (Outbreak Impact Risk: OIR) เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถกำหนดเพิ่ม-ลดมาตรการได้ตรงตามระดับสถานการณ์ของโรค และคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงคนไทยจะได้เข้าใจว่าโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้ก็หายไปได้” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1.ช่วง 1-3 วันแรก พื้นที่ต้องเริ่มด้วยมาตรการพื้นฐานเดียวกันทั้งหมด และ สธ.ต้องรีบเข้าไปสอบสวนโรค ต้องประเมินแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูง -ต่ำให้ได้ รวมถึง มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยง เพื่อรายงานว่าพื้นที่นั้นๆ สถานการณ์โรคยังเกิดขึ้นอยู่ หรือ Active ในระดับเหตุการณ์ที่เป็น Spike only หรือ Spike and a small wave 2.ช่วง 5-7 วัน ถ้าสามารถควบคุมจัดการได้แล้ว ก็จะรายงานเป็นควบคุมได้ (Control) ถ้ายังควบคุมไม่ได้ก็ไม่ประกาศ เพื่อที่ระดับพื้นที่จะได้กำหนดมาตรการต่างๆ ให้มีการเพิ่มหรือลดได้เหมาะสมตามสถานการณ์ 3.ช่วง 10 วัน หากผลตรวจผู้สัมผัสทั้งหมดออกมาว่าเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติม ก็จะรายงานเป็นระดับ ปลอดภัย (Safe) และ 4.ครบ14 วัน หากไม่มีการระบาดแล้ว ก็จะรายงานเป็นระดับจบ (End)
“มาตรการพื้นที่ฐานที่ทุกพื้นที่ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน ในกรณีก่อนพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เน้นมาตรการบุคคล เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และติดตาม ค้นหาผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เพิ่มมาตรการต่างๆที่จำเป็น เช่น ระบบระบายอากาศ การทำความสะอาดพื้นผิว ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ สอบสวนและติดตามผู้สัมผัส และกักกันกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เป็นต้น ในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีนั้น จากนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องกลับมาดูเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งการท่องเที่ยวและธุรกิจ จึงต้องประเมินความเสี่ยง (Relative RiskCountry: RRC) ของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาลดวันกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เสนอว่าควรจะลดเหลือ 7 วัน เพราะสำหรับความรู้ทางการแพทย์ที่มีต่อโควิด-19 ขณะนี้มีมากแล้ว ดังนั้น 14 วัน จึงเป็นเวลาที่ค่อนข้างนาน
“แต่มีหลายคนร่วมกันเสนอจึงมีแนวคิดว่า ค่อยๆ ปรับลดวันจาก 14 เหลือ 10 วัน กรมควบคุมโรคจึงเสนอแนวโน้มความเสี่ยงของแต่ละประเทศต้นทางว่า อัตราการติดเชื้อจากประเทศจีน มีความเสี่ยง 60 ต่อ 1 ล้านคน ไต้หวัน 25 ต่อ 1 ล้านคน นิวซีแลนด์ 400 ต่อ 1 ล้านคน เกาหลีใต้ 557 ต่อ 1 ล้านคน ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับไทยคือ จีน มาเก๊า ไต้หวัน เวียดนาม จัดเป็นกลุ่มประเทศสีขาว จึงมีแนวคิดว่าจะเข้ามาไทยและกักตัวน้อยกว่า 14 วัน ได้หรือไม่” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ปลัด สธ. กล่าวว่า จะต้องมีมาตรการคัดกรองก่อนเดินทาง และเมื่อกักตัวครบ 10 วัน ก็จะใช้มาตรการติดตามตัว บริษัทนำเที่ยวจะต้องสังเกตอาการและรายงานทันที
“ทางคณิตศาสตร์คำนวณว่า หากเดินทางมาจากกลุ่มประเทศสีขาว จำนวน 1 ล้านคน เดินทางเข้าประเทศไทยกักตัว 10 วัน เราจะพบผู้ติดเชื้อเล็ดลอดหลังจากวันที่ 11 ไปแล้ว ประมาณ 10-12 คนต่อเดือน เฉลี่ย 2-3 คนต่อสัปดาห์ ระบบเราสามารถดักจับได้ และหากหลุดไปในวันที่ 11 นักวิชาการยืนยันว่าเชื้อจะน้อย โอกาสแพร่เชื้อก็จะน้อยตาม เป็นแนวคิดที่ดีว่าจะสามารถทำตรงนี้ได้ ทางวิชาการเองก็รายงานว่า การกักตัว 10 และ 14 วัน ไม่ต่างกันมากนัก โดยสถิติของประเทศไทย ในการตรวจหาเชื้อผู้กักตัวที่เดินทางมาจากประเทศซูดานใต้ จำนวน 77 ราย ด้วยวิธี RT-PCR และ เจาะเลือดหาภูมิคุ้มกัน ผลพบว่า ทั้งหมดพบในวันที่ 9 ของการกักตัว หลังจากวันที่ 9 ไม่มีเลย ดังนั้น เห็นได้ว่า 10 วันเหมาะสม มีทั้งข้อมูลวิชาการและปฏิบัติ ว่าน่าจะดักจับได้ 100% สธ.จึงกล้าเสนอว่าปลอดภัย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากเราทำได้ดีจาก 10 อาจเหลือ 7 วันได้ ก็จะทำให้เกิดการกักตัวรูปแบบเพื่อสุขภาพ (Wellness Quarantine) การใช้สนามกอล์ฟในการกักตัว (Golf Quarantine) แต่เบื้องต้นก็จะพิจารณาที่ 10 วัน อาจมีพื้นที่และเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับช่วงสังเกตอาการ 11-14 วัน ที่ไม่ปะปนกับผู้อื่น (Area Quarantine) เริ่มในจังหวัดของไทย ที่มีความพร้อมทั้งการตรวจโควิด-19 ดักจับผู้ติดเชื้อและประชาชนในพื้นที่ เช่น จ.ชลบุรี ที่มีหาดพัทยาก็จะสามารถให้ผู้เดินทางเข้ากักตัวเข้าไปในระบบปิดเล็กๆ ขณะนี้มี 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นนทบุรี สมุทรปราการ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศได้ในรูปแบบที่เรียกว่า Exclusive Travel Area แต่รัฐบาลให้เราเริ่มช้าลง โดยให้เริ่มในเดือนมกราคม 2564
“ระหว่างนี้ ผมจะเจรจากับประเทศจีน เรื่องการทำ Safety to Safety Travel เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีแพทย์จากไทยไปอยู่ที่จีน และแพทย์จากจีนก็มาอยู่ในไทย เสนอระบบการตรวจ สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน คนจีนมีความต้องการอยากเดินทางเข้าประเทศไทย แต่เนื่องจากรัฐบาลจีนเองก็กลัวว่าเดินทางมาอยู่ประเทศไทยแล้วจะนำเชื้อกลับไปจีน แต่หากทำข้อตกลงตามกฎหมาย เป็น Safety to Safety Travel ก็จะสามารถเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่เราเสนอไป และในจังหวัดของไทยที่มีความพร้อมก็จะได้รับพิจารณาก่อน และมีระบบในการรองรับ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การต่อสู้กับโควิด-19 เปลี่ยนจากการปกป้อง 100% เป็นการอยู่ร่วมกับกับโควิด-19 และสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ จะทำให้สังคมไทยไปได้ และต้องเกิดพฤติกรรมสุขภาพวิถีใหม่ ทั้งการใช้ชีวิตและการใช้ระบบบริการต่าง ๆ อย่างไรก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนในการป้องกันโรค ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง