รีเซต

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่นหนังสือ ขอชะลอ มรดกโลก จี้แก้ปัญหาที่ดิน-บิลลี่ หาย

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่นหนังสือ ขอชะลอ มรดกโลก จี้แก้ปัญหาที่ดิน-บิลลี่ หาย
ข่าวสด
23 มกราคม 2564 ( 14:28 )
113

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน 110 คน ยื่นหนังสือไม่เห็นด้วย ขึ้นทะเบียนมรดกโลกช่วงนี้ จี้รัฐ แก้ปัญหาชุมชนดั้งเดิม ปัญหาที่ดิน - บิลลี่ หายไม่คืบ

 

 

วันที่ 23 ม.ค.64 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มกราคม 2564 ตนได้ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการมรดกโลก ด้วยมีความห่วงกังวลในสถานการณ์ที่มีข่าวว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2564 มีชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน จำนวนร่วม 100 คน เดินเท้ากลับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หลังจากถูกเผาบ้านและยุ้งฉางร่วม 100 หลัง ในปี 2554 พร้อมแนบหนังสือร้องเรียนของชาวกะเหรี่ยง

 

ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ชาวบ้านกว่า 107 ครอบครัว ประสบความยากลำบากขาดแคลนที่ดินทำกิน เกิดความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ รายได้ การเลี้ยงชีพ และด้านอื่นๆ หลังจากถูกบังคับให้อพยพจากหมู่บ้านดั้งเดิม ที่อยู่กันมาหลายร้อยปีและหลายชั่วอายุคน

 

ประกอบกับ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรม ได้ถูกบังคับอุ้มหาย แม้ทางดีเอสไอจะพบหลักฐานสำคัญ แต่จนปัจจุบันการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดก็ยังไม่มีความคืบหน้า

 

 

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 รัฐบาลไทยได้เชิญคณะฑูตานุฑูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก 8 ประเทศ ลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตัวแทนชาวบ้านได้รับเชิญเพียงร่วมสังเกตการณ์ แต่ไม่มีโอกาสอธิบายข้อเท็จจริงให้คณะฑูตานุฑูตทราบ

 

ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินจำนวน 110 คน นำโดย นายน่อแอะ มีมิ บุตรชายของปู่คออี้ มีมิ ได้เสนอต่อกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก คือ ขอให้แก้ไขที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหาแทบตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน ทั้งต้องการสืบทอดวิถีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย

 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยมาเนิ่นนานในป่า จะมีกำลังใจและมีความยินดีอย่างยิ่ง หากคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาจดหมายร้องเรียนของชาวบ้าน และทำให้รัฐบาลไทยเคารพต่อการได้รับความยินยอม และการตัดสินใจ ที่มาจากข้อมูลที่เป็นอิสระ จากชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และยอมให้ชนเผ่าพื้นเมืองกระเหรี่ยงในแก่งกระจาน มีส่วนร่วมและเป็นผู้ตัดสินใจในกระบวนการขี้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง