รีเซต

ฟังความเห็น 'รถเก่า' แลก 'รถใหม่' ของขวัญปีใหม่

ฟังความเห็น 'รถเก่า' แลก 'รถใหม่' ของขวัญปีใหม่
มติชน
24 พฤศจิกายน 2563 ( 07:59 )
150
ฟังความเห็น 'รถเก่า' แลก 'รถใหม่' ของขวัญปีใหม่

หลังจากนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ ศบศ. มอบการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันโครงการรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรืออีวี ประกอบกับรัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5

 

จึงมีการเสนอไอเดียจากค่ายรถยนต์ว่า จากการหารือกับภาครัฐมีความต้องการให้โครงการลดแลกแจกแถมเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน แต่ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ

 

สำหรับโครงการนี้ รัฐบาลจะเน้นสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และอีวี 100%

 

ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนได้เสนอหลายเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ประชาชนนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ อาทิ ให้ค่ายรถยนต์ สนับสนุนส่วนลด 2% และอุดหนุนค่ากำจัดซาก 1% ของราคาขายรถใหม่ โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าไปหักภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คิดเป็นเงินส่วนลด 3% ของราคาขายรถใหม่ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

 

กระบวนการนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดกิจการจัดการซากรถเก่า ขณะที่กระทรวงคมนาคมต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อยกเลิกทะเบียนรถเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 10-12 ปี

 

การกำจัดซากรถนั้น เป็นไปตามนโยบายมุ่งเน้นสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน มีเป้าหมายลดฝุ่นขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 และนำเศษซากมาสร้างประโยชน์ใหม่ รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์

 

สำหรับความเห็นจากภาคเอกชน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลในการกระตุ้นกำลังซื้อ และกระตุ้นการผลิตการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แต่วิธีการเหมาะสมมองว่า ควรส่งเสริมรถยนต์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศไทยจะเหมาะกว่า เพราะจะสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ทั่วไปที่ผลิตในประเทศไทยมีความเกี่ยวพันกับหลายอุตสาหกรรม เป็นห่วงโซ่อุปทาน และภาคการเงิน รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนโรงงานมีการจ้างงานรวมกันมากถึง 1 ล้านคน

 

นอกจากนี้ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเอทานอลและไบโอดีเซล มีส่วนช่วยเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน และยังช่วยลดมลภาวะลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

ปัจจุบันประเทศไทยมียอดสะสมรถยนต์นั่งรวมประมาณ 10 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซิน 6.4 ล้านคัน คิดเป็น 62% และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล 3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 29% ของรถยนต์ทั้งหมดในภาพรวม

 

“ส่วนตัวไม่คัดค้านการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี แต่อยากให้มองว่าปัจจุบันรถอีวี 100% จดทะเบียนกับขนส่งทางบกแล้วมีประมาณ 1,931 คัน เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้า นโยบายนี้จะไม่ใช่การสนับสนุนการผลิตในประเทศอย่างครอบคลุม แต่จะสนับสนุนแต่กลุ่มรถยนต์ไฮบริดที่มีการผลิตในประเทศแล้ว ส่วนปลั๊กอินไฮบริด และอีวี 100% (บีอีวี) ไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่ได้ผลิตในประเทศ ดังนั้น แนวทางที่เหมาะสมควรสนับสนุนรถยนต์ทุกชนิด ทุกกลุ่ม

 

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายในประเทศหายไปประมาณ 3 แสนคัน ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังลำบาก ส่วนการสนับสนุนรถอีวีอยากให้ทำเมื่อพร้อม ส่วนตัวสนับสนุนอีวีและพูดเรื่องนี้มาตลอด 6-7 ปีแล้ว แต่เข้าใจว่ายังต้องใช้เวลา ภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งระบบ” นายสุรพงษ์ระบุ

 

นายสุรพงษ์ยืนยันว่า ควรรอให้มีการผลิตและมีโครงสร้างพื้นฐานในประเทศก่อน เพราะขณะนี้ค่ายรถยนต์หลักในไทยยังไม่ผลิตรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าที่ขายยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีระดับราคาที่สูงคันละกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปถึงหลายล้านบาท กลุ่มคนที่ซื้อจึงเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเบื้องต้นจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในช่วงปี 2561 จะต้องเริ่มต้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลายปี 2564-2565

 

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มียอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยกลุ่มรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่เป็น บีอีวี หรือไฟฟ้า 100% ล่าสุดช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) มียอดจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก รวม 1,931 คัน เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เติบโตเพิ่มขึ้น 140% จาก 31 ธันวาคม 2562 ที่มียอดขายรวม 802 คัน โดยราคาขายสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป และขายดีในช่วงราคา 2-3 ล้านบาท ขณะที่ตลาดกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในประเทศต้องการซื้อรถยนต์ประมาณคันละไม่เกิน 800,000 บาท แสดงว่ากลุ่มคนที่ซื้อเป็นผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง ขณะที่รถยนต์ไฮบริดอยู่ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ช่วง 10 เดือน มียอดขายอยู่ที่ 1.64 แสนคัน ราคาขายมากกว่า 9 แสนบาทต่อคันขึ้นไป และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ช่วง 10 เดือน มียอดขายประมาณ 7 พันคัน ราคาขายเริ่มต้นประมาณ 3 ล้านบาทขึ้นไป

 

จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อย้อนกลับมาดูยอดขายรถยนต์เติมน้ำมัน ที่ผลิตในประเทศ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาลดลงไปแล้ว 35% จำนวนนี้ยอดส่งออกก็ลดลง 35% เช่นกัน ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลง 27% เนื่องจากต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนค่ายรถยนต์บางค่ายต้องหยุดไลน์การผลิตบางส่วน คาดว่า ทั้งปีการผลิตรถยนต์ของประเทศจะหายไป 6 แสนคัน แบ่งเป็นยอดส่งออกหายไป 3 แสนคัน และขายในประเทศหายไป 3 แสนคัน เหล่านี้ล้วนส่งผลผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ

 

โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถยนต์ อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เคมี น้ำมัน และยังกระทบกับภาคการเงิน ธนาคาร ลีสซิ่ง สินเชื่อรถยนต์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ห่วงโซ่ยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง