รีเซต

หมอรามาฯ เผยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จ! เคสแรกของโลก

หมอรามาฯ เผยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จ! เคสแรกของโลก
มติชน
23 มิถุนายน 2563 ( 18:40 )
222
หมอรามาฯ เผยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จ! เคสแรกของโลก
หมอรามาฯ เผยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จ! เคสแรกของโลก

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แถลงความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียครั้งแรกของโลก

 

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากพี่น้อง คือ ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีโอ้ ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษา ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือน้องจีน พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด

 

“เคสนี้มีความท้าทายและซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในวันที่เราจะต้องเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าน้องจีโอ้ติดเชื้อโควิด-19 น้องจีโอ้จึงอยู่ในฐานะผู้ป่วยอีกคน อีกทั้งผู้ป่วยทั้ง 2 คน ยังอายุน้อย ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ” ศ.นพ.สุรเดช กล่าวและว่า การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสเต็มเซลล์ที่ได้จะมีเชื้อโควิด-19 รวมถึงขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้องจีโอ้ต้องถูกกักโรค และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะที่น้องจีนยังคงรักษาตัวอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย เคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า นอกจากความเสี่ยงของเชื้อโควิด-19 แล้ว การทำงานของคณะแพทย์ยังต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการรับเคมีบำบัด หรือคีโมจนครบเรียบร้อยแล้ว ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น

 

รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ แพทย์ผู้ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้น้องจีนขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการตัดต่อยีนไม่สามารถทำได้ สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้จึงเป็นความหวังเดียว

 

“ทีมแพทย์ได้ประชุมและร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจดำเนินการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ทันที วินาทีที่เราตรวจสเต็มเซลล์ที่ได้ว่าเป็นสเต็มเซลล์ปลอดเชื้อโควิด-19 และการปลูกถ่ายไปยังน้องจีนประสบผลสำเร็จ จึงไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่เราสามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย แต่นี่ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย” รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซีดเหลืองเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อน นอกจากการรักษาแบบประคับประครองโดยการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็กแล้ว ปัจจุบันพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายผู้ป่วยเองหรือการตัดต่อยีน หรือด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของบุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีไปยังผู้ป่วย โดยทั้งผู้ให้และผู้รับต้องมีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อโดยสมบูรณ์ 100% รพ.รามาฯ ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2532

 

ด้านนายสุชาย บุญกล่อมจิตร พ่อน้องจีน-น้องจีโอ้ กล่าวว่า แพทย์ รพ.รามาฯ ตรวจพบว่าน้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีแนวโน้มตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ ที่ผ่านมาน้องจีนเข้ารับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ รพ.รามาฯ มาโดยตลอด จนปลายปี 2561 ครอบครัวได้รับข่าวดีว่าผลการตรวจเนื้อเยื่อของน้องจีนและน้องจีโอ้เข้ากันได้

“หมอบอกว่าครอบครัวเราโชคดีมากๆ เพราะโอกาสที่พี่น้องจะมีเนื้อเยื่อตรงกันมีเพียงแค่ร้อยละ 25 ครอบครัวจึงตัดสินใจให้น้องจีนเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างไม่ลังเล โดยน้องจีนได้รับคิวผ่าตัดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา” พ่อของน้องจีน-น้องจีโอ้ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง