รีเซต

‘ออมสิน’ปักเป้า4ปี แก้หนี้-ลดดอก-หนุนออม

‘ออมสิน’ปักเป้า4ปี แก้หนี้-ลดดอก-หนุนออม
ทันหุ้น
18 ตุลาคม 2567 ( 07:13 )
25

#ออมสิน #ทันหุ้น - “วิทัย  รัตนากร” หัวเรือใหญ่ ออมสิน ตั้งเป้าหมาย 4 ปี ขยายผลสร้างโซเชียลอิมแพ็ก ก้าวสู่ธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ ยกหนี้ พัฒนาชุนชน พร้อมสนับสนุนการออม ตุนเงินสำรองส่วนเกินสูงขึ้นแตะ 8 หมื่นล้านบาท

 

นายวิทัย รัตนากร  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เป้าหมายในอีก 4 ปีข้างหน้าของธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ซึ่งทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ และนำไปสนับสนุนดูแลสังคม โดยในอีก 4 ปีข้างหน้า ออมสินตั้งเป้าขยายผลในการสร้างโซเชียลอิมแพ็กดูแลสังคมให้มีความลึก และความกว้างมากขึ้น

 

// ไม่แสวงผลกำไร

 

“เราอยู่ในจุดที่เราได้รับนโยบายมาว่า ไม่ต้องแสวงหาผลกำไรสูงสุด เอากำไรพอดีๆ และเอากำไรส่วนที่เหลือไปช่วยคนไปช่วยเหลือสังคม มาตรการก็จะออกมา ดึงคนเข้าระบบ ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนมากขึ้น ลดดอกเบี้ย แก้ไขหนี้ ยกหนี้ในบางกรณี รวมถึงการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม เราทำ 2 อย่าง ควบคู่กัน ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ และทำภารกิจเชิงสังคมในการช่วยเหลือคน ซึ่งเราจะเป็นแบรนด์ที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างชัดเจน เป็นลูกค้าออมสินเท่ากับช่วยสังคม เพราะเราก็นำเงินนำรายได้ไปจุนเจือสังคม และนำรายได้ที่เหลือส่งต่อให้กับรัฐบาลจะแตกต่างจากแบงก์ทั่วไป” นายวิทัย กล่าว

 

สำหรับภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1. การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2. การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3. การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4. การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

// สร้างอาชีพฐานราก

 

5. การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน  6. การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7. การพัฒนาชุมชน 8. การส่งเสริมการออม 9. การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10. การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit)

 

ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)

 

// ขยายผลช่วยสังคม

 

นอกจากนี้ ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด

 

2. บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี  3. บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB” และ 4. บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร

 

อนึ่ง ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact) ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงขอเชิญชวนเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง