รีเซต

เปิดที่มา “ไวรัลเปรตขี้เกียจ” มีมแฝงคติธรรม ล้อเลียนชีวิตคนยุคใหม่ผ่าน AI

เปิดที่มา “ไวรัลเปรตขี้เกียจ” มีมแฝงคติธรรม ล้อเลียนชีวิตคนยุคใหม่ผ่าน AI
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2568 ( 11:48 )
7

เปิดที่มา “ไวรัลเปรตขี้เกียจ” จากรูปปั้นวัดไผ่โรงวัว สู่มีมภาพสะท้อน ล้อเลียนสังคมยุคใหม่

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลได้พบกับไวรัลรูปแบบใหม่ เป็น มีมเปรตในอากัปกิริยาต่างๆ ที่ไม่ใช่อยู่ในนรกถูกลงทัณฑ์จากบาปกรรมที่ทำมาแต่อย่างใด แต่เป็นการจำลองของเปรตในรูปแบบต่าง ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เปรตกินชาเขียวแต่ยังง่วง เปรตติดซีรีส์ เปรตขี้เกียจ หรือแม้แต่เปรตรับมะม่วงไว้ไม่กล้าปฏิเสธ มีมเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำขึ้นสนุกๆ แต่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิต และ ล้อเลียนพฤติกรรม ของคนยุคใหม่ในโลกดิจิทัล

ต้นทางของไวรัลเปรต : "แดนนรก" จากวัดไผ่โรงวัว

จุดเริ่มต้นของกระแส มาจากรูปปั้นเปรตตัวจริงที่ตั้งอยู่ภายใน "แดนนรก" ของวัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีป้ายเขียนว่า “เปรต ขี้เกียจ นอน ลูกเดียว” รูปปั้นนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้งานโซเชียลจำนวนมากดัดแปลงเป็นมีมหลากหลายเวอร์ชั่นผ่าน AI สะท้อนพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยในยุคปัจจุบัน

ภาพจากเฟซบุ๊ก : วัดไผ่โรงวัว

วัดไผ่โรงวัว หรือวัดโพธาราม ตั้งอยู่ในตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 200 ไร่ จุดเด่นสำคัญคือ “แดนนรก” ซึ่งจำลองโลกหลังความตายตามคติพุทธศาสนา ด้วยงานประติมากรรมปูนปั้นที่นำเสนอสัตว์นรก เปรต และภูตผีต่าง ๆ เพื่อเตือนใจผู้ชมให้ระลึกถึงผลแห่งกรรม

ศิลปกรรมในแดนนรกของวัดไผ่โรงวัวไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อสร้างความหวาดกลัว หากแต่เป็น “เครื่องมือสื่อธรรม” ที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ แม้กับคนรุ่นใหม่

“เปรต” ไม่ใช่แค่ผีผอมโซ ในคติพุทธมีถึง 12 ตระกูล

แม้หลายคนจะมองว่าเปรตคือ “ผี” ที่มีรูปลักษณ์ผอมสูง ปากเท่ารูเข็ม แต่ในคัมภีร์พุทธบาลี อย่างโลกบัญญัติปกรณ์ และฉคติทีปนีปกรณ์ ได้อธิบายว่าเปรตมีถึง 12 ตระกูล และในพระวินัยก็กล่าวถึงอีก 21 จำพวก โดยแต่ละประเภทสะท้อนผลกรรมเฉพาะทางที่ผู้กระทำต้องเผชิญ อาทิ เปรตมือโตเท่าใบลานเพราะตีพ่อแม่ เปรตที่มีเล็บยาวเพราะสมัยที่มีชีวิตอยู่เคยขูดรีดขูดเนื้อผู้อื่น เป็นต้น

เสียงหัวเราะที่สะท้อนใจ: เมื่อมีมพูดแทนความจริงในชีวิต

การที่ “เปรตขี้เกียจ” จะกลายเป็นตัวแทนของความเฉื่อยชาในชีวิตจริง ไม่ได้เป็นเรื่องขำขันเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนความรู้สึกผิดหวัง อ่อนล้า หรือความพยายามในการยอมรับตัวเองที่อยู่ภายใต้ความกดดันทางสังคม  ดังนั้นมีมเปรตที่แชร์กันในโลกโซเชียลสะท้อนถึงพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้คนใช้ในการบอกเล่าความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย และ บอกเล่าประสบการณ์ที่เจอมา ถือว่าเป็นการระบายออกอย่างสร้างสรรค์ หยิบแกมหยอกเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม