รีเซต

ย้อนดู 'โมเดล' 'อู่ฮั่น-กว่างโจว' หยุดโควิด

ย้อนดู 'โมเดล' 'อู่ฮั่น-กว่างโจว' หยุดโควิด
มติชน
22 กรกฎาคม 2564 ( 07:19 )
33
ย้อนดู 'โมเดล' 'อู่ฮั่น-กว่างโจว' หยุดโควิด

 

โดยหลักวิชาการทางระบาดวิทยา ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดทวีขึ้นไปเรื่อยๆ มีอยู่ 3 ปัจจัย อย่างแรก คือ ตัวเชื้อก่อโรคระบาด ถัดมาคือ ความไว หรือความอ่อนไหวของคนต่อการติด-แพร่เชื้อ สุดท้าย คือ พฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆ เอื้อต่อการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเหตุปัจจัยทั้งสาม ก่อให้เกิดผลสะท้อนต่อการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของโรคระบาดอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19 ที่มีธรรมชาติกลายพันธุ์สูง การกลายพันธุ์ที่เป็นการเปลี่ยนตัวเชื้อโรคไปจากเดิม เป็นเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

การฉีดวัคซีนเป็นการเปลี่ยนแปลงความไวต่อการติดเชื้อ-แพร่เชื้อ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ทำให้การระบาดลดลง ทำนองเดียวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม เช่น การบังคับให้สวมหน้ากากป้องกัน การรักษาระยะห่าง หรือการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อการแพร่ระบาดได้ชัดเจน

 

 

ในภาวะที่บังเกิดเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า เปลี่ยนปัจจัยเชื้อให้เลวร้ายลงกว่าเดิม บวกกับสถานการณ์ขาดแคลนและไม่แน่นอนในการจัดหาและกระจายวัคซีน ทำให้ไม่สามารถปรับปัจจัยความไวของบุคคลในการรับเชื้อได้ ทางเลือกที่เหลืออยู่เพียงทางเดียวก็คือ การปรับพฤติกรรมของผู้คนในสังคม

 


การ “ล็อกดาวน์” คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขั้นสูงสุด เฉียบพลันที่สุด

จีน เป็นผู้ริเริ่มมาตรการนี้ และยังคงเป็นประเทศเดียวที่ใช้มาตรการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เว้นแม้แต่เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่เร็วอย่างเดลต้า อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

แต่การล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด เข้มงวดที่สุด เกิดขึ้นที่ อู่ฮั่น เมืองเอกของ มณฑลหูเป่ย์ เมื่อ 23 มกราคม ปี 2020 ที่ผ่านมา ประชากร 11 ล้านคน ของเมืองถูกจำกัดการเคลื่อนไหวมากยิ่งกว่าในยามศึกสงคราม อย่าว่าแต่การรวมตัวกันเป็นคนหมู่มากเลย ทางการจีนห้าม แม้แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน หรือผู้ที่อยู่ห้องติดกันในแฟลตที่พักด้วยซ้ำไป

 

 

ความเข้มงวดดังกล่าวลามออกไปครอบคลุมประชากรทั้ง 57 ล้านคนทั่วหูเป่ย์ ในเวลาต่อมา

 

 

นั่นคือภาพจำของคนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่คนอู่ฮั่นเอง เมื่อพูดถึงการ “ปิดเมือง-สกัดไวรัส” ในครั้งนั้น

 

 

แต่การล็อกดาวน์ไม่ได้มีเป้าหมาย เพื่อจำกัดให้การระบาดเกิดขึ้นจำเพาะในเขตใดเขตหนึ่ง ตรงกันข้าม หลักการของการล็อกดาวน์ คือการ “เร่งตรวจหาเชื้อ, เร่งแยกกัก และเร่งรักษา” ซึ่งเป็นหลักการที่จีนนำมาปรับใช้ในการล็อกดาวน์ทุกครั้ง นับตั้งแต่อู่ฮั่นเรื่อยมา

 

 

จีน “ประกาศ” การล็อกดาวน์อู่ฮั่น เมื่อเวลา 02.00 น. ของคืนวันที่ 23 มกราคม เป็นการประกาศผ่านแอพพลิเคชั่นของทางการที่กำหนดให้ประชากรทุกคนของเมือง “ต้อง” ลงทะเบียนใช้

 

 

การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากที่มีการระดมทีมนักระบาดวิทยาจากทั่วประเทศ มากกว่า 1,800 ทีม เข้ามาประจำการในอู่ฮั่นเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำหน้าที่สอบสวนโรค และติดตามกลุ่มเสี่ยงมาแยกกักตัว โดยมีสถานีสุขภาพและการกักกันโรค ผุดขึ้นทั่วอู่ฮั่นหลายพันจุด

 

 

ปฏิบัติการเชิงรุกในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์ ผ่านการใช้อินฟาเรด เมอร์โมมิเตอร์ ตามจุดขนส่งสาธารณะต่างๆ แล้วรุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ ไปสกรีนผู้คนถึงที่ทำงาน, ในร้านค้า สุดท้ายก็บนท้องถนน

 

 

หลังการล็อกดาวน์ การตรวจเชิงรุกเกิดขึ้นถึงบ้านทุกหลัง “บังคับ” นำตัวผู้ติดเชื้อทุกคนมาแยกกัก

 

 

เพื่อรองรับมาตรการเหล่านี้ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะ ขึ้น เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ทั้งเพื่อการกักตัว และรักษาพยาบาลมากกว่า 40 จุด

 

 

รวมทั้งโรงพยาบาลพิเศษขนาด 1,500 เตียง 2 โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อการนี้ แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วันจนทึ่งไปทั้งโลก

 

 

การตรวจหาเชื้อของจีนที่อู่ฮั่นทวีศักยภาพขึ้นสูงสุด เมื่อนำเอาระบบการตรวจแบบรวมตัวอย่าง (pooled sample testing) มาใช้ จนสามารถตรวจหาเชื้อนับสิบล้านคนได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

 

 

นอกจากแอพพ์ในสมาร์ทโฟนสำหรับใช้การติดตาม แกะรอย เก็บข้อมูลสุขภาพและการเดินทาง ยังถูกใช้เป็นตัวกำหนดกลุ่มประชากรเป็น เขียว ส้ม และแดง สำหรับเป็นเครื่องชี้ขาดว่าใครควรถูกกักแยกหรือไม่ โดยอาศัยพื้นฐานจากประวัติสุขภาพและการเดินทาง ทางการจีนยังมี “สตรีท แคเมอรา ซิสเต็ม” ซึ่งพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยการระบาดของโรคซาร์ส ที่สามารถ “ตรวจจับ” ได้ว่ามีใครออกมาเดินถนน โดยไม่สวมหน้ากากป้องกันหรือไม่

 

 

ระบบดังกล่าว ถูกปรับปรุงสมรรถนะขึ้นสูงสุดด้วยเทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” ที่ช่วยให้ระบุตัวบุคคลได้แทบในทันทีอีกด้วย
อู่ฮั่น ตกอยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์เด็ดขาดนาน 76 วัน คำถามที่น่าสนใจก็คือ ชาวเมืองกว่า 10 ล้านคน กินอะไรกันในช่วงเวลาห้ามออกจากบ้านเด็ดขาด

 

 

ข้อกำหนดในตอนแรกสุด คืออนุญาตให้ 1 ครอบครัว ส่งคนออกไปซื้อหาอาหาร และของจำเป็นได้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในไม่ช้าไม่นาน คือภาวะขาดแคลนของสิ่งของจำเป็น เช่น หน้ากากป้องกัน และสินค้าอาหารทั้งหลาย โซเชียลมีเดียของจีนมีภาพชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาว่างเปล่าเต็มไปหมด

 

 

ทางการจีนแก้ปัญหาด้วยการระดมอาหารและเวชภัณฑ์เข้ามา อาสาสมัครท้องถิ่น เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบผู้อยู่อาศัยในเขตรับผิดชอบของตนเอง จัดส่งของชำ อาหารแห้งให้ ควบคู่ไปกับการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ลดภาระเกินกำลังของบริการรถพยาบาลของทางการลงไปในตัว

 

 

ระบบเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้ที่กว่างโจว ที่มีการล็อกดาวน์ เมื่อ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น โดยการใช้รถยนต์ไร้คนขับจัดส่งข้าวของแทน ลดการสัมผัสที่จะเพิ่มกลุ่มเสี่ยงลง

 

 

การล็อกดาวน์ที่กว่างโจว ลดความเข้มข้นลง แต่ยังคงอยู่ภายใต้หลักการ “เร่งตรวจหาเชื้อ, เร่งแยกกัก และเร่งรักษา” มีการก่อสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบหาเชื้อขึ้นมาใหม่ มีการก่อสร้างโรงพยาบาลรองรับการกักแยกผู้ป่วย มีการแบ่งเขตพื้นที่ สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่ปิด มีความเสี่ยงสูง จะถูกปิดล้อม ห้ามการเข้า-ออกเด็ดขาด กักตัวประชาชนให้อยู่แต่ภายในบ้าน 14 วัน ในระหว่างนั้นทุกคนต้องตรวจหาเชื้อ 5 ครั้ง มีการใช้โดรนติดกล้อง ทั้งเพื่อแจ้งข่าว, ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎล็อกดาวน์

 

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น “อู่ฮั่นโมเดล” หรือ “กว่างโจว โมเดล” ต้องมีการเตรียมพร้อมระบบพื้นฐานและรัฐบาลต้องมีศักยภาพเพียงพอ ทั้งในแง่ของการควบคุมการล็อกดาวน์ และการรองรับการตรวจ แยกกักและรักษาผู้ป่วย

 

 

ไม่เช่นนั้นประสิทธิภาพในการล็อกดาวน์จะลดลง หรืออาจไม่บังเกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่คาดหมายไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง