รีเซต

ถึงเวลา 'เศรษฐา' สางปัญหาเรื้อรัง ปฎิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาประชาชน

ถึงเวลา 'เศรษฐา' สางปัญหาเรื้อรัง ปฎิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาประชาชน
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2567 ( 11:20 )
63

ผลโพลชี้ ประชาชนต้องการให้นายกฯ ถือธงนำปฏิรูป แต่ความท้าทาย คือการ 'แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง' ที่ฝังรากลึก 


ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย  ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มเพื่อทำความเข้าใจมุมมองที่หลากหลายในประเด็นสำคัญนี้ 



"ปฏิรูปตำรวจ" ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นพูดถึงอีกครั้ง หลังวงการสีกากีเริ่มสั่นสะเทือนจากความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจ ระหว่าง บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ   บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. ซึ่งความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงนำมาสู่การเปิดข้อมูล และ ดำเนินคดีในเรื่องที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวโยงกับขบวนการพนันออนไลน์ และ การเรียกรับส่วย 

แม้คดีทั้งหมดจะยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน และ บางส่วนอยู่ในการพิจารณาในชั้นศาล แต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลลับที่ถูกเปิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ได้สร้างภาพลบให้กับตำรวจไทย รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจเป็นอย่างมาก 


ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปตำรวจไทยสะท้อนได้จากผลโพลล่าสุด จากซุปเปอร์โพลที่เสนอผลการศึกษาเรื่อง ปฏิรูปตำรวจ กับ ศรัทธาจากประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,597 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา


เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจเพื่อฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุ ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงของประชาชน ปฏิรูปตำรวจ 

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.9 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 6.1 ไม่ต้องการ


ทั้งนี้พบว่าเมื่อแบ่งออกตามช่วงอายุจะพบว่าทุกช่วงอายุต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดยคนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 98.5 ของผู้มีอายุไม่เกิน 24 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ 


"มีความเป็นไปได้ที่การปฏิรูปตำรวจจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงเมื่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ถือธงนำ ฟังเสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ แก้จุดเปราะบางที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี อาทิ ภารกิจงานตำรวจมีหลายหน้างานมากกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนแตกต่างไปจากภารกิจของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น และคุณภาพชีวิตที่ขัดสนแต่งานหนัก รายได้ต่ำ ปัญหาหนี้สินมากจนต้องหาช่องทางอื่นเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เป็นต้น" ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าว


ย้อนดูเส้นทางปฏิรูปตำรวจ


แม้เสียงส่วนใหญ่จะขานรับ และ สนับสุนการปฏิรูปตำรวจ แต่ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย จะเห็นได้จากความพยายามของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ผลักดันการปฏิรูปตำรวจ และ กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ปี 2557 ก่อนที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานในปี 2560  จากนั้นจึงใช้เวลาอีกราว 4 ปี ในการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อผลักดันเข้าสู่รัฐสภาฯ โดยมีการปรับแก้ ร่างใหม่หลายรอบ พร้อมส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา 


ขณะที่ในชั้นการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภาฯเห็นชอบ และ คลอดออกมาเป็น พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565  โดยให้มีผลประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 


สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย 5 ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การแต่งตั้งโยกย้าย กำหนดให้มีการปฏิรูปตำรวจ และ แก้ไขกฎหมาย 2 เรื่อง คือ 1.1 เรื่องเกี่ยวกับอำนาจและภารกิจของตำรวจ 1.2 เรื่องบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย  โดยกฎหมายได้กำหนดจำนวนปีของการครองตำแหน่งไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจต้องพิจารณาทั้งหลักอาวุโสและหลักความรู้ความสามารถประกอบกัน การกำหนดสัดส่วนให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสทั้งหมด 


2.การดำเนินการทางวินัย ถ้ามีพยานหลักฐานในทางวินัย สามารถพิจารณาและสั่งการ โดยไม่ต้องรอผลจาก ป.ป.ช. หรือ ศาลตัดสิน 


3.การบริหารงาน ตำรวจที่อยู่ในสถานีตำรวจจะไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยราชการที่อื่น ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะจัดเจ้่าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นไปทดแทน


4.การโอนภารกิจ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่เชี่ยวชาญกว่าตำรวจรับไปดำเนินการ เช่นปรับโอน หรือยุบหน่วยงานของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการ โดยจัดพนักงานของการรถไฟฯ เพื่อบริการประชาชน 


5.ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ประกอบด้วย 5.1 มีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ( ก.ร.ตร.) เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งประชาชนมีสิทธิร้องเรียน คณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกองค์กรตำรวจ มีเพียงจเรตำรวจแห่งชาติเป็นคณะกรรมการเพียงท่านเดียว 5.2 การบริหารในระดับสถานี มุ่งเน้นความสำคัญของสถานีตำรวจ เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่งถึง 5.3 ระบบบริหารงานบุคคลดีจะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ประชาชนได้รับสิทธิที่ดีขึ้น 


ปฏิรูปตำรวจ แก้กฏหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ 


แม้ พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งถือเป็นผลจากความพยายามในการปฏิรูปตำรวจ และถือเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อคุ้มครองตำรวจไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง และป้องกันให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจในทางมิชอบ ส่งเสริมให้ตำรวจทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หลังการประกาศใช้  พรบ.ตำรวจฉบับใหม่มาได้เพียง 1 ปีเศษ กลับมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้มีการปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าการปฏิรูปตำรวจด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ 


สอดคล้องกับความเห็นของดร. มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เคยเสนอความเห็นไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า 

“ทุกครั้งที่พยายามปฏิรูปตำรวจ มักเจอแต่การหลอกล่อและต่อต้านจากนายตำรวจใหญ่ทั้งในและนอกราชการ รวมถึงผู้นำการเมืองที่สายตาสั้นปกป้องเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าของพวกตนและองค์กร


จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนแปลง รื้อโครงสร้างหรือปฏิรูปองค์กรแห่งนี้ด้วยการให้คนมีอำนาจ ตำรวจและนักการเมือง ไปนั่งเจรจาสมยอมกันในทำเนียบฯ หรือรัฐสภา


รู้กันดีว่า ผลประโยชน์จากคอร์รัปชัน ส่วย หวย บ่อน ซ่อง ยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ส่วยทางหลวง ด่านลอย ซื้อขายสำนวนคดี รีดไถชาวบ้าน ฯลฯ ทำให้เกิดการแก่งแย่ง วิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง สร้างเครือข่ายพวกใครพวกมัน วางคนในตำแหน่งที่เงินดีหรือคอยปกป้องกันได้ในภายหลัง


ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งและการหักหลังในหมู่ตำรวจด้วยกันเอง

คอร์รัปชันอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรเพราะน้ำมือตำรวจด้วยกันเอง นักการเมือง อาชญากร คนโกง คนทำผิดกฎหมาย แม้แต่ใครที่อยากรังแกคนอื่นก็อาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือ ทุกคนวนเวียนโกงซับโกงซ้อนจนเป็นวัฒนธรรม .. นี่คือความจริง เลิกพูดเอาใจกันได้แล้วครับ

นับจากนี้การปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยพลังของตำรวจส่วนใหญ่ที่รักหวงแหนองค์กร และประชาชนที่ไม่ยอมทน ช่วยกันผลักดันให้นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. และสภาผู้แทนราษฎร ลงมือสังคายนาให้จริงจัง ทั้งการแก้กฎหมาย วางนโยบาย แบบแผนปฏิบัติงาน กลไกติดตามตรวจสอบ ฯลฯ


แต่ท้ายที่สุดกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรื่องใหญ่นี้ก้าวหน้าหรือสะดุดอยู่อย่างนี้ต่อไป คงต้องขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะนิ่งเฉยหรือกำหนดนโยบายไปในทิศทางใด" 


จะเห็นได้ว่าการปฏิรูปตำรวจถือเป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาลที่จะทำให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแก้ไข ปรับปรุงให้สอดรับกับความคาดหวังของประชาชน เพราะ “ตำรวจ” ถือเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และ เป็นที่พึ่งในยามเดือดร้อน  และ ป้องกันภัยจากอันตราย  


“ปฏิรูปตำรวจ” จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของนายกเศรษฐา ซึ่งหากสามารถทำให้ตำรวจกลับมาเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงตรงต่อกฎหมายได้สำเร็จจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงไม่แพ้การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเลยทีเดียว  



ผลโพลปฏิรูปตำรวจกับศรัทธาประชาชน 

https://www.superpollthailand.net/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5


5 ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่

https://www.facebook.com/legalpolicethailand/posts/174051761953985?ref=embed_post


ทำไมปฏิรูปตำรวจไม่ได้ ไม่ปฏิรูปก็ไม่ได้

http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/1762/4/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89













ข่าวที่เกี่ยวข้อง