สศอ.ใจชื้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมส่งสัญญาณโงหัว หวังครึ่งปีหลังกระเตื้อง
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใจชื้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมส่งสัญญาณโงหัว หวังครึ่งปีหลังกระเตื้อง
สศอ.ใจชื้นดัชนีผลผลิตอุตฯ - นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 83.02 หดตัว 17.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 100.82 แต่เป็นอัตราการหดตัวที่น้อยกว่าเดือนก่อนที่หดตัวถึง 23.80% และเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 4.18% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.21% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 52.34% ทำให้เดือนก.ค. มองเอ็มพีไอจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
“แม้เอ็มพีไอไตรมาส 2/2563 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.97% ส่งผลให้ภาพรวมเอ็มพีไอ 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2563) ติดลบ 12.85% ซึ่งสศอ. มองว่าเอ็มพีไอได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อประมาณเดือนเม.ย. และขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรม จากเอ็มพีไอเดือนมิ.ย. เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวน้อยลง และเทียบกับเดือนก่อนหน้ายังขยายตัวจากหลายอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับมาขยายตัว จึงคาดว่าปีนี้เอ็มพีไอทั้งปีจะดีขึ้น เหลือติดลบ 6% ถึงติดลบ 7% และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมคาดติดลบ 5.5% ถึงติดลบ 6.5%”
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่งทั่วโลกหยุดชะงักลง เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว ท่ามกลางปัจจัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตใหม่ที่ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัว
อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตของโลก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศที่มีผลต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศ ยกเว้นการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ทำได้ดี ทำให้มีการคลายล็อกกิจการบางประเภทให้กลับมาดำเนินการได้ ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมา กำลังซื้อในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับโครงการขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะมีเงินเข้าสู่ระบบ และมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงการผ่อนคลายระยะที่ 6 เป็นปัจจัยบวกในระยะข้างหน้า
นายทองชัย กล่าวว่า ส่วนตัวการปรับเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะรัฐมีแนวนโยบายหลักในการบริหารอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่ยังคงสนใจและมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง