รีเซต

'สีหศักดิ์' หน.คณะผู้แทนไทยในมรดกโลก แจงไทยกับการขึ้นทะเบียน 'แก่งกระจาน'

'สีหศักดิ์' หน.คณะผู้แทนไทยในมรดกโลก แจงไทยกับการขึ้นทะเบียน 'แก่งกระจาน'
มติชน
2 สิงหาคม 2564 ( 05:51 )
72
'สีหศักดิ์' หน.คณะผู้แทนไทยในมรดกโลก แจงไทยกับการขึ้นทะเบียน 'แก่งกระจาน'

 

หมายเหตุ “มติชน” – นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกได้ เล่าให้ฟังถึงการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าของไทย พร้อมอธิบายถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัย

 

๐ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ การชี้แจงในที่ประชุมเป็นอย่างไร

 

 

ข้อมูลที่เขาเอามาพูดบางเรื่องเป็นประเด็นเก่ามาก อย่างกรณีที่บอกว่าชาวบ้านถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ มีการเผาหมู่บ้านเขา ซึ่งเราก็ถือว่าผิด ศาลก็มีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว คนที่รับผิดชอบขณะนั้นก็มีการดำเนินการให้ออกจากราชการซึ่งเขาก็ร้องเรียนอยู่ กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็มีการื้อฟื้นคดี กรณีทนายความเสียชีวิตซึ่งยังไม่สามารถหามูลเหตุได้ แต่ก็มีการสอบสวน ที่ล่าสุดบอกมีการทำร้ายร่างกายก็คือชาวบ้านกลับไปที่เดิม ซึ่งศาลมีคำสั่งแล้วว่าไม่ให้กลับไป กลับไปแล้วมีการเผาป่าเพื่อทำเกษตร ที่บอกว่ามีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านอย่างมากมาย มันก็ไม่ใช่ ศาลสั่งด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและรักษาสิ่งแวดล้อม การกล่าวหาหลายอย่างเป็นเรื่องเดิมหรือยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่สำคัญรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นเหล่านี้ แต่การดำเนินการเพื่อหารือและชี้แจ้งแก้ไขควรทำผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ซึ่งเราชี้แจงมาตลอด และก็มีการดำเนินการให้ดีขึ้นในสิ่งที่เราทำได้

 

 

ผู้เสนอรายงานก็เป็นผู้เสนอรายงานของเอชอาร์ซี อยู่ดีๆ มาเสนอรายงานกับที่ประชุมมรดกโลก เราคิดว่ามันเป็นการข้ามเวทีหรือไม่ แน่นอนว่าเป็นอำนาจของประธานที่จะอนุญาตและเราก็ไม่ได้คัดค้าน แต่ในวันนั้นหลายชาติไม่เห็นด้วยกับหลักการเช่นนี้ และเขาก็ได้พูดซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไร เราเข้าใจว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญในทุกองค์กรของยูเอ็น แต่เวทีนี้มันไม่น่าจะเป็นเวทีที่นำมาพิจารณา โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นการดำเนินการเฉพาะซึ่งควรทำผ่านกลไกที่ถูกต้องคือเอชอาร์ซี ผมทราบดีเพราะเคยเป็นประธานเอชอาร์ซีมาก่อน

 

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยก็ได้หารือและชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ กับผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าดั้งเดิม (indigenous people) ไปแล้วหลายรอบ และก็ชี้แจงในกรอบของเอชอาร์ซีอยู่ตลอด ทั้งยังชี้แจงในกรอบที่ทำได้ทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจด้วยว่ากฎหมายไทยไม่มีชนพื้นเมือง แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 60 กว่ากลุ่ม ซึ่งเราต้องดูแลภายใต้กฎหมายของเรา ไม่เหมือนชาวอะบอริจินในออสเตรเลียหรืออินเดียนแดงในอเมริกา

 

 

คำถามคือทำไมเขาการเสนอข้อมูลของเขาเป็นการเสนอข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีข้อมูลที่เราชี้แจงเลย เพราะโดยหน้าที่ของเขาก็ต้องพิจารณาและตรวจสอบข้อมูลทุกฝ่าย นำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน อีกทั้งกรณีเหล่านี้ที่เป็นกรณีเฉพาะไม่ควรนำไปสู่เวทีมรดกโลก ไม่อย่างนั้นต่อไปมันจะกลายเป็นว่าจะมีเรื่องแบบนี้หรือประเด็นการเมืองเข้ามาในเวทีนี้ ซึ่งขณะนี้ก็มีแล้วในกรณีของบางประเทศ และมันจะกลายเป็นปัญหา

 

 

ยิ่งมีการกล่าวหาและเหมารวมว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางและร้ายแรงในแก่งกระจานมันยิ่งไม่ใช่ เราไม่ได้ปฎิเสธว่ามันไม่มี แต่มีเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งเราพร้อมจะชี้แจงและชี้แจงไปแล้วในกลไกเอชอาร์ซี แต่ในมรดกโลกประเด็นคือสิทธิชุมชนในการดำรงชีวิต ซึ่งก็มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะพรบ.อุทยานฯฉบับใหม่มีเรื่องคนอยู่กับธรรมชาติจากเดิมที่ระบุว่าเป็นการรุกล้ำ เรามีการกำหนดที่ดินทั่วประเทศเพื่อดำเนินการจัดสรรที่เหมาะสม กรณีบางกลอยในอุทยานก็มีข้อร้องเรียนจากบางกลอยแห่งเดียว ชุมชุนอื่นเขาก็รู้สึกพอใจกับผลการดำเนินการ

 

 

เรื่องที่ดินและการพัฒนาความเป็นอยู่มันก็ยังไม่จบ ในข้อมติเราพูดชัดว่าเรายังดำเนินการต่อไปในการดูแลชุมชนในพื้นที่ ปรากฎชัดในกฎหมายใหม่เรื่องคนกับป่าอยู่ด้วยกันและคนช่วยรักษาป่า แต่คนก็ต้องปรับวิถีชีวิตบ้างเพื่อให้ป่าเหลืออยู่ ขณะที่การจัดสรรที่ดินสำหรับคนไทยต้องเท่าเทียมกัน เพราะเราถือว่าเขาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน

 

 

๐การเตรียมการและการทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้เราพาคณะทูตไป มีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ในกรุงเทพไปด้วย ล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีนี้ก็พาคณะทูตไปอีก ก็ไปให้เห็นความเป็นอยู่ ไปดูหมู่บ้านบางกลอย โป่งลึก จะว่ากันจริงๆ มันก็มีความเป็นอยู่ที่ดี มีพลังงานโซล่า มีน้ำ มีโรงเรียน มีอินเตอร์เน็ต แต่ที่บางกลอยประชากรมันเพิ่ม จากใจแผ่นดิน 200 คนเป็น 600 คน ดังนั้นกระบวนการจัดสรรก็ต้องมีเวลาให้ดำเนินการ เพื่อให้ความเป็นอยู่เขาดีขึ้น ปัจจุบันก็ทราบว่าที่เข้าไปช่วยกันมี 12 หน่วยงานและ 80 โครงการในพื้นที่

 

 

การชี้แจงของเรามีการสอบถามแล้วสอบถามอีกว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะเอาข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบมาพูด ในการทำงานของเราเราดูในทุกประเด็น ตั้งแต่เรื่องเขตแดนกับเมียนมาที่เป็นประเด็นคราวก่อน เรื่องการหารือกับชุมชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ

เราไล่ทุกประเด็นว่าแต่ละประเด็นมันไปถึงไหน และเน้นย้ำให้มีการชี้แจงกับผู้เสนอรายงานฯ ให้ชัดเจน ซึ่งเราก็ไปเสนอและเขาก็บอกว่าเขาเข้าใจและรับทราบ แต่อยู่ดีๆ ก็นำข้อมูลมาเสนอและขอพูดในที่ประชุมมรดกโลก การทำงานของเราเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้เอาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาใช้ เราทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขในทุกประเด็น มีการชี้แจงประเทศที่อยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกอย่างต่อเนื่องให้เขาเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กับกระทรวงการต่างประเทศ โดยรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ให้ทิศทางมา

 

 

เราทำงานเป็นทีมมาโดยตลอด เน้นความโปร่งใส พูดคุยกับไอยูซีเอ็น พาคณะทูตไปลงพื้นที่ ถือหลักการทำงานคือเราต้องเอาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมานำเสนอ ในการประชุมทุกครั้งมีการสอบถามทุกประเด็น แนวทางชี้แจงต้องหนักแน่น มีพื้นฐานข้อเท็จจริง

 

 

0แต่ก็ยังมีข้อกล่าวหาว่าการดำเนินการไม่โปร่งใส มีการล็อบบี้ต่างๆ

เราล็อบบี้ด้วยการชี้แจงและด้วยข้อมูล บางประเทศเขาก็เห็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นเฉพาะ ไม่ควรเอาเข้ามาในมรดกโลกควรต้องที่ยึดคุณค่าคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Values-โอยูวี) ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรม หลายประเทศที่เขาสนับสนุนไทยจากโอยูวีของเราที่เรามั่นใจว่าคุณค่ามันใช่ แต่สิทธิมนุษยชน หลายคนเห็นว่ามันคนละกรอบกัน ประเด็นคือขึ้นทะเบียนแล้วมันไม่ได้จบ เพราะอีก 2 ปีเราต้องเสนอสถานะการอนุรักษ์ ถ้าเราไม่ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาก็อาจตกสถานะมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วจบ เราต้องดูแลธรรมชาติ ดูแลชุมชนตามที่เรารับปากไว้

กรณีที่มีการอ้างว่าเราลดพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไป 15% ตามที่ได้ตกลงกับเมียนมา เราก็ส่งเอกสารไปให้แล้วว่าแม้ลดพื้นที่แต่คุณค่าและความหลากหลายทางธรรมชาตินั้นยังเหมือนเดิม เพราะในความเป็นจริงพื้นที่แก่งกระจานในกฎหมายไทยนั้นเหมือนเดิม เพียงแต่ลดพื้นที่ในการนำเสนอให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพื่อความสบายใจของเมียนมาเท่านั้น

 

 

ผลที่ออกมาเพราะเราทำงานกันอย่างเต็มที่ บนข้อมูลจากสิ่งที่เราดำเนินการมา ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวลของคณะกรรมการที่ผ่านมาเราทำครบถ้วนทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง