รีเซต

โควิด: นักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงอัฟกัน สร้าง "เครื่องช่วยหายใจ" ต้นทุนต่ำจากอะไหล่รถ

โควิด: นักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงอัฟกัน สร้าง "เครื่องช่วยหายใจ" ต้นทุนต่ำจากอะไหล่รถ
ข่าวสด
21 พฤษภาคม 2563 ( 02:15 )
250
โควิด: นักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงอัฟกัน สร้าง "เครื่องช่วยหายใจ" ต้นทุนต่ำจากอะไหล่รถ

 

โควิด: นักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงอัฟกัน - วันที่ 20 พ.ค. บีบีซี รายงานความพยายามของทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์หญิงอัฟกัน ที่เร่งผลิตเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ และเส้นตายในการส่งมอบภายในเดือนพ.ค.นี้

 

AFP

 

น.ส.โซมายา ฟารูกี อายุ 14 ปี หัวหน้าทีม น.ส.เอลฮัม มันโซรี อายุ 16 ปี และ น.ส.นาฮิต ราฮิมิ อายุ 17 ปี สมาชิกทีม เคยสร้างชื่อเสียงระดับโลกจากรางวัลพิเศษในการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560

 

ทั้งหมดมาจากจังหวัดเฮรัต ทางตะวันตก ที่มีรายงานการพบผู้ป่วยโควิด-19 คนแรกของประเทศ อีกทั้ง เป็นจุดสำคัญการระบาดใหญ่ เนื่องจากติดพรมแดนอิหร่าน ศูนย์กลางการระบาดของภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

ทีมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์สร้างต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ ด้วยมอเตอร์จากรถยนต์โตโยต้า โคโรลลา ที่ใช้งานแล้ว และสายพานโซ่ (Chain drive) จากจักรยานยนต์ฮอนด้า ซึ่งจะช่วยบรรเทาผู้ป่วยที่มีปัญหาหายใจติดขัดเป็นการชั่วคราวยามไม่มีเครื่องช่วยหายใจมาตรฐาน

 

AFP

 

อัฟกานิสถานมีเครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศเพียง 400 เครื่อง แต่จำนวนประชากรมากถึง 38.9 ล้านคน ขณะยอดผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 7,650 คน และเสียชีวิต 178 ราย สร้างความวิตกกังวลว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลงและทำให้ระบบสาธารณสุขเปราะบางอยู่แล้วของประเทศล่มได้

 

ขณะที่โลกขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ ที่ราคาตลาดโลกสูงถึง 30,000-50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (950,000-1,600,000 บาท) ทำให้บรรดาประเทศยากจนเอื้อมไม่ถึง ทีมนักประดิษฐ์นี้กลับสร้างด้วยต้นทุนต่ำกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐ (19,000 บาท) ต่อเครื่อง

 

แต่ความท้าทายตอนนี้คือการเดินทางออกไปหาอะไหล่ต่างๆ นอกจังหวัดฮาเรต ซึ่งอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ และร้านรวงต่างๆ ปิดตัวลง

 

AFP

 

อย่างไรก็ตาม นายโรยา มาฮ์บูบ ผู้ติดโผ 100 อันดับโลก นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลจากนิตยสารไทม์ และผู้ก่อตั้งทีมเยาวชนนักประดิษฐ์นี้ กล่าวว่า ยังมีความหวังที่จะส่งมอบเครื่องช่วยหายใจทันภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้

 

“ความสำเร็จคืบหน้าไปแล้ว 70% ขาดเพียงเซนเซอร์อากาศ ที่พยายามหาแหล่งแทนการสร้างขึ้นมาเองเพราะกินเวลาเยอะ สำหรับระยะแรกสมบูรณ์แล้ว และทดสอบในโรงพยาบาลเมื่อ 2 วันก่อน ทีมนักประดิษฐ์กำลังทำงานในระยะที่สอง เมื่อสมบูรณ์แล้วจะแนะนำสู่ตลาด” นายมาฮ์บูบกล่าว และว่า ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือทุกทางแก่โครงการผลิตเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำนี้

https://www.youtube.com/watch?v=W9QcOsA8RcI

 

เหนือสิ่งอื่นใด ทีมนักประดิษฐ์คาดหวังว่า โครงการนี้อาจจุดประกายแก่ผู้อื่นและเปลี่ยนการรับรู้ของผู้หญิงในแวดวงวิศวอุตสาหกรรม ท่ามกลางปัญหาการรู้หนังสือของผู้หญิงในอัฟกานิสถานที่มีอัตราส่วนต่ำกว่า 30%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง