ชาวบ้าน ประจานอีไอเอ กรมชล สร้างเขื่อน อ้างป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่อุดมสมบูรณ์
วันที่ 24 ก.ย. นายเปเล่ กัวพู่ ชาวบ้านพุระกำ อ.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมชลประทาน ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจแปลงที่ดินทำกิน ครัวเรือนตามทะเบียนราษฎร์ และเก็บข้อมูลต้นไม้ในสวนของชาวบ้านพุระกำ เพื่อเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง หรือเขื่อนพุระกำ ที่จะปิดกั้นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำลำภาชี ที่ส่งผลกระทบต่อที่ทำกินกว่า 400 ไร่ และชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนซึ่งต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐาน
“กรมชลประทานมาขอให้ชาวบ้านนำสำรวจต้นไม้และที่ทำกินของชาวบ้าน แต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือ จึงไม่ได้ข้อมูลนี้ไป ส่วนครัวเรือน เลขที่บ้าน เขาคงไปขอจากที่อำเภอได้ ชาวบ้านทุกคนยืนยันว่าไม่ต้องการย้ายออกจากที่นี่ เพราะพื้นที่ที่กรมชลประทานเตรียมให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร มีแต่ทราย เป็นที่ราบแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ คงปลูกพืชและทำกินไม่ได้” นายเปเล่ กล่าว
นายเปเล่ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านไปยื่นคัดค้านโครงการกับหน่วยงานรัฐหลายครั้ง กระทั่งเรื่องโครงการเงียบหายไปนานจนได้ข่าวอีกครั้งว่ากำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระบุว่า พื้นที่ต้นน้ำแถบนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นข้อมูลไม่จริง เพราะชาวบ้านยืนยันว่าป่ารอบหมูบ้านพุระกำยังพบสัตว์ป่าและร่องร่อยของสัตว์ป่า ทั้ง สมเสร็จ เก้ง กวาง เลียงผา หมูป่า หมี มีเพียงสัตว์ป่าชนิดเดียวที่ไม่พบ คือ แรดที่สูญพันธุ์จากป่าในประเทศไทยชนิดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้วิถีชีวิตของชาวบ้านในปัจจุบันยึดวิถีการทำเกษตรทุกครัวเรือน ไม่มีใครเข้าป่าล่าสัตว์อีกแล้ว และยังเป็นผู้คอยดูแลเฝ้าระวังการเข้ามาลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่
ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาของประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 4-7 กันยายนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปสำรวจพันธุ์ปลาบริเวณลุ่มน้ำลำภาชีในจุดที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนพุระกำ พบสัตว์น้ำเฉพาะถิ่นลุ่มน้ำแม่กลองหลายชนิดที่บ่งชี้ถึงคุณภาพแหล่งต้นน้ำที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยสัตว์ป่าขนาดใหญ่ นก สัตว์เลื้อยคลาน และสภาพป่าสมบูรณ์ ซึ่งคิดว่าไม่เหมาะสมหากมีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายเช่นนี้
“การสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก และยังต้องถางป่าโดยรอบในระยะ 30-50 เมตร จากขอบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งผืนป่าแถบนี้ยังมีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่มากแล้ว จึงไม่ควรเสียพื้นที่ป่าแม้แต่ 1 ตารางเมตร เพื่อสร้างเขื่อน” ดร.ชวลิต กล่าว
ดร.ชวลิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน เพราะชาวบ้านกะเหรี่ยงที่บ้านพุระกำเคยถูกย้ายออกจากป่าแก่งกระจานมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 30-40 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงแล้ว จึงไม่ควรตกเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำอีก
ข่าวแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2563 พร้อมกับ ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาประจำสำนักงานเร่งรัดนโยบายของนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จุดสร้างเขื่อนและบ้านพุระกำ เพื่อตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของชาวบ้าน
อนึ่ง โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เสนอโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้พื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วน มีราษฎรชาวไทยภูเขาเชื้อสายกระเหรี่ยงกลุ่มบ้านพุระกำ อยู่อาศัยและทำกินกว่า 400 ไร่
ทั้งนี้ผืนป่าพุระกำถือเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำลำภาชี เป็นแหล่งที่อยู่ของนกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด มีการพบรังและการขยายพันธุ์ รวมทั้งเป็นเส้นทางอพยพหากินของนกเงือกที่มีความเชื่อมโยงกับผืนป่าเขาใหญ่ และผืนป่าทางภาคใต้ไปจรดป่าในเทือกเขาบูโดและป่าฮาลาบาลาที่เป็นแหล่งนกเงือกสำคัญของภูมิภาค รวมทั้งเป็นกลุ่มป่าในผืนป่าแก่งกระจานที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นมรดกโลก
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว