รีเซต

ธปท.เปิดทางรวมหนี้ใช้บ้านค้ำ สินเชื่อส่วนบุคคลข้ามแบงก์ สั่งกดดอกเบี้ยถูก อุ้มคนกู้สู้โควิด

ธปท.เปิดทางรวมหนี้ใช้บ้านค้ำ สินเชื่อส่วนบุคคลข้ามแบงก์ สั่งกดดอกเบี้ยถูก อุ้มคนกู้สู้โควิด
ข่าวสด
22 พฤศจิกายน 2564 ( 15:00 )
48

ธปท.เปิดทางรวมหนี้ - น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. กำหนดให้มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว

 

ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้ เปิดให้รวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินและ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น โดยในกรณีที่สถาบันการเงินมีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม

 

ส่วนในกรณีที่รับโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (refinance) มาจากสถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ด้วย ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไปอย่างมีนัย

 

“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนาโนอยู่ 33% สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 25% บัตรเครดิต 16% เมื่อเข้ามาตรการรวมหนี้ จะคิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย เดิมหากคิดที่ 6% ก็จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น หรือหากเป็นการรวมหนี้ไปสถาบันการเงินอื่น ก็จะคิดดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย เช่น ปีที่ 4 เป็นต้นไป บวกเพิ่มได้ไม่เกิน 2% ซึ่งก็ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเมื่อเทียบกับก่อนรวมหนี้”

นอกจากนี้ ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง การดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวนสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต เหลือ 35% อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เนื่องจากเป็นการนำ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาเป็นหลักประกันแล้ว สำหรับรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังกล่าว

คาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2564 โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรงเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการ ส่วนลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น อาจจะต้องรอให้กระทรวงการคลังอนุมัติหลักเกณฑ์ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

 

“ลูกหนี้จะได้ประโยชน์จากมาตรการรวมหนี้ ไม่เพียงได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงเท่านั้น แต่สิ่งที่ลูกหนี้ควรรู้หลังจากเข้าร่วมมาตรการด้วย คือ ลูกหนี้จะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย และลูกหนี้ต้องให้คำยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นแก่สถาบันการเงินที่ทำการรวมหนี้ เช่น ชื่อเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงค้าง รวมถึงลูกหนี้อาจถูกพิจารณาปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ และหากผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ถึงแม้จะไม่ได้รวมหนี้) ก็อาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับหลักประกันสินเชื่อบ้านได้”

 

ขณะที่มาตรการรวมหนี้ดังกล่าว จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตได้ดีขึ้น คุณภาพพอร์ตสินเชื่อดีขึ้น ลูกหนี้มั่นคงมากขึ้น และได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลจาก ธปท. แต่แนวโน้มรายได้จากดอกเบี้ยก็จะมีแนวโน้มปรับลดลงด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกหนี้ โดยมองว่าแม้มาตรการรวมหนี้ที่ออกมาจะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินอยู่บ้าง แต่ก็จะอยู่ในระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการตั้งสำรองไว้ในระดับที่สูงมาก

 

นอกจากนี้ ธปท. ได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย โดยห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

 

สำหรับภาพรวมความคืบหน้ามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พบว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 มีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 6.69 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 3.82 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 2.72 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.24 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3.97 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.58 ล้านล้านบาท

 

ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 2564 พบว่า มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนทั้งสิ้น 2.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 178 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน สปา ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 1.26 แสนล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 3.97 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย

 

ส่วนโครงการทางด่วนแก้หนี้ มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 2.52 แสนบัญชี คิดเป็น 75% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข, โครงการหมอหนี้ พบว่า มีจำนวนผู้เข้าชมผ่านเว็บไซด์ 5.88 หมื่นครั้ง และมีจำนวนผู้ใช้แชทบอทหมอหนี้เพื่อประชาชน 1.55 พันราย และมีการให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.47 พันราย

 

ส่วนโคงการคลินิกแก้หนี้ มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 6.8 หมื่นบัญชี คิดเป็น 88% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข ขณะที่มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 2.19 แสนบัญชี คิดเป็น 72% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข ส่วนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 9.6 พันบัญชี คิดเป็น 75% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข

 

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan ปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต 7 ราย แต่มีการปล่อยจริง 4 ราย โดยมีผู้ได้รับสินเชื่อจำนวน 4.16 แสนราย ยอดคงค้าง 2.08 พันล้านบาท เป็นยอดหนี้เฉลี่ย 5 พันบาทต่อราย

 

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวนั้น พบว่า ตั้งแต่ มี.ค. 2563 - ต.ค. 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวได้รับสินเชื่อใหม่ทั้งสิ้น 1.25 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นสินเชื่อซอฟต์โลน และสินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการช่วยเหลือของทางการ คิดเป็นวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 9 พันราย ส่วนการแก้ไขหนี้เดิม ผ่านสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พักของธนาคารพาณิชย์ไทย วงเงิน 4.56 แสนล้านบาท

 

“ธปท. ดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ โดยจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ นั้น พบว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงโตได้ดี และโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ขยายตัวเป็นบวกหลังจากติดลบมาหลายปี ด้วยผลของมาตรการซอฟต์โลนและสินเชื่อฟื้นฟู ส่วนคุณภาพสินเชื่อแม้จะด้อยลงเล็กน้อย แต่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพของลูกหนี้ได้ และลูกหนี้รายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์มีจำนวนการถูกฟ้องร้องลดลงในช่วงที่ผ่านมา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง