เคทีซีเปิดเวทีเสวนา ‘KTC FIT Talks 7’ รับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์
นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ควบคุมงานปฏิบัติการและงานปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา KTC FIT Talks 7 ตอนรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ว่า ธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการบนอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 9.79% ต่อปี ในช่วงปี 2560-2564 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านอี-มาร์เก็ตเพลซ มากที่สุด ในขณะที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่านโซเชี่ยล คอมเมิร์ซ มากที่สุด
สำหรับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. แอพพลิเคชันของธนาคาร 2. ชำระเงินปลายทาง 3. ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิท 4. โอนหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร และ 5. ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์ม นอกเหนือจากการชำระค่าสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์แล้ว นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกหนึ่งบริการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นคือ การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์ อาทิ บิทคอยน์ หุ้นและกองทุนรวม
“ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในโลกของการชำระออนไลน์ที่ต้องมีความเสถียร ใช้งานง่ายและรวดเร็ว สิ่งที่เคทีซีให้ความสำคัญสูงสุดคือ ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกในการทำทุกธุรกรรมการเงิน ด้วยการพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผ่าน 4 องค์ประกอบหลักคือ บุคลากร-กระบวนการ-เทคโนโลยี-การบริหารจัดการข้อมูล อย่างไรก็ดี การป้องกันภัยจากการทุจริตต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หากสมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการป้องกันตนเองในเบื้องต้น”
ทั้งนี้ ลักษณะการทุจริตบนระบบการชำระออนไลน์ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น Friendly Fraud (การทุจริตจากคนแวดล้อมใกล้ตัว) Fake Website (เว็บไซต์ปลอม) Bin Attack (การสุ่มเลขบัตร) และโดยเฉพาะ Social Engineering (การหลอกโอนขอ OTP หรือ One Time Password และหลอกโอนเงิน) จากแกงค์คอลเซ็นเตอร์ หรือแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ตำรวจหรือไปรษณีย์ เป็นต้น โดยตัวอย่างเหตุการณ์ที่พบได้แก่ ผู้ทุจริตส่ง QR Code ปลอมหลอกให้ลูกค้าสแกนทำรายการ / ลูกค้าได้รับอีเมลหลอกลวงหรือหน้าเว็บไซต์ปลอม (Email Phishing) จากมิจฉาชีพ หลอกให้ทำการอัพเดทข้อมูลบัตรเครดิตและถูกนำไปใช้เข้าระบบและทำรายการธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายนพรัตน์ สุริยา ผู้จัดการ - ควบคุมและป้องกันการทุจริต เคทีซี กล่าวถึงการรับมือในยุคสังคม ไร้เงินสด ว่า ผู้บริโภคสามารถร่วมป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดย 1. ระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมล์ลวง ทุกธนาคารและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายแจ้งให้ลูกค้าเข้าใช้บัญชีผ่านทางอีเมล์ 2. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ 3. ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรม ผ่าน SMS หรือให้อีเมล์กับธนาคารและสถาบันการเงิน 4. ล็อกเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจาก QR Code ปลอม ทำได้โดยตรวจสอบความเรียบร้อยสมบูรณ์ถูกต้องของ QR Code ใช้สแกนเนอร์ที่มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชันเตือนเมื่อเป็น QR Code ปลอม / ระมัดระวังการสแกน QR Code ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ / ไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวหลังจากสแกน QR Code / ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์หรือ URL หลังการสแกน QR Code เพราะมิจฉาชีพมักใช้ชื่อคล้ายคลึงกัน / หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอพฯ จาก QR Code ควรดาวน์โหลดจาก Apple Store หรือ Google Play แทน
นายพันธ์เทพ ชนะศึก ผู้อำนวยการ - หน่วยงานควบคุมและป้องกันการทุจริต “เคทีซี” กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางออนไลน์ ว่า เคทีซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสและติดตามสังเกตการณ์เหตุผิดปกติวิสัย ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตของมิจฉาชีพ เพื่อการป้องปราบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โดยล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พัฒนาความช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ไปอีกขั้น ด้วยการแจ้งเตือนภัย และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่โทร. 1441 นอกจากนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้เปิดสายด่วน โทร. 1212 เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย