รีเซต

PTT โชว์กำไร Q3/66 ที่ 31,297.14 ลบ. โต 252.66% เหตุมีกำไรสต๊อก-ค่าการกลั่นเพิ่ม

PTT โชว์กำไร Q3/66 ที่ 31,297.14 ลบ. โต 252.66% เหตุมีกำไรสต๊อก-ค่าการกลั่นเพิ่ม
ทันหุ้น
13 พฤศจิกายน 2566 ( 17:51 )
64

#PTT #ทันหุ้น-บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไตรมาส 3/66 มีกำไร 31,297.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 8,874.58 ล้านบาท ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 79,258.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 72,509.82 ล้านบาท 

 

ในไตรมาส 3/66 (3Q2566) ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 146,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  53,745 ล้านบาท หรือ 58.2%  จากในไตรมาส 3/65(3Q2565) ที่จำนวน 92,280 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น

 

สำหรับธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยหลักจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มปตท.มีผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 3/66 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นขาดทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท ประกอบกับกำรไขั้นต้นจากการกลั่น(Market GRM) เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 3/65   เป็น 11.3 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 3/66 โดยหลักจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน และน้ำมันเตา กับน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึง Crude Premium ที่ปรับลดลง และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 

 

ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหลักจากกลุ่มอะโรเมติกส์ที่มีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับสูงขึ้น 

 

กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีผลดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยหลักจากธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ต้นทุนค่าเนื้อก๊าซปรับลดลงมากตามราคา Pool Gas รวมถึงปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยลดลง รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) มีผลการดำเนินงานดีขึ้น จากต้นทุนค่าเนื้อก๊าซที่ปรับลดลงตามราคา Pool Gas ประกอบกับราคาขายเพิ่มขึ้น 

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 2,337,438 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 79,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลดลงจากความกังวลด้านสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มผ่อนคลาย รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท. ปรับลดลง โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น จากกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และผลกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

          

โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 34,000 ล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจ  9 เดือนแรกของปี 2566 ให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ แล้วประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินปันผลจะพิจารณาให้เหมาะสมกับกำไร สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง รวมถึงแผนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ดังตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่ผ่านมา พร้อมมุ่งจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

 

ทั้งนี้ ปตท. ขานรับนโยบายลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันที่ 19 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ ปตท. เรียกเก็บค่าเชื้อเพลิงตามค่าควบคุม และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กลุ่มภาคไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตามมติ ครม. พร้อมให้ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรอบถัดไปตามที่ กกพ. เห็นชอบ มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ปตท. สนับสนุนงบประมาณบรรเทาผลกระทบต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ ให้กับประชาชนแล้ว กว่า 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ปตท. ยังได้มีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยเหลือผู้ใช้พลังงานในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง LPG NGV และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อร่วมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง