รีเซต

นักวิทย์เผยสาเหตุ "กรุงเทพฯ อยู่ไกลทำไมตึกถล่ม" "ทำไมแผ่นดินไหวเมียนมามีผู้เสียชีวิตมาก"

นักวิทย์เผยสาเหตุ "กรุงเทพฯ อยู่ไกลทำไมตึกถล่ม" "ทำไมแผ่นดินไหวเมียนมามีผู้เสียชีวิตมาก"
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2568 ( 18:42 )
11

ผู้เชี่ยวชาญเผยแผ่นดินไหวรุนแรงที่เมียนมา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มีนาคม) อาจเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศในรอบหลายทศวรรษ โดยแบบจำลองภัยพิบัติบ่งชี้ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน


จากการประเมินอัตโนมัติของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา หรือ USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวระดับตื้นขนาด 7.7 แมกนิจูดทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสะกายในภาคกลางของเมียนมา ทำให้เกิดการเตือนภัยระดับสีแดง จากจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดจากเหตุแผ่นดินไหว


มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และมีความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ในภาคกลางของเมียนมา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่าล้านคน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเมียนมาเกือบ 1,700 คนแล้ว


อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ของ USGS ระบุว่า มีโอกาส 35 เปอร์เซ็นต์ที่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจอยู่ในช่วง 10,000-100,000 คน ส่วนความเสียหายทางการเงินอาจสูงถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเตือนว่าอาจเกิน GDP ของเมียนมา


ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอทำให้ความพยายามในการกู้ภัย และบรรเทาทุกข์ในเมียนมา ประเทศที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว จากการเป็นรัฐบาลทหาร เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่หน่วยกู้ภัยและระบบรักษาพยาบาลก็ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2021 มานานกว่าสี่ปีแล้ว

รอยเลื่อนที่อันตราย


บิล แม็กไกว ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านธรณีฟิสิกส์และภัยธรรมชาติด้านสภาพอากาศจาก University College London (UCL) กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของเมียนมาในรอบเกือบศตวรรษ และเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.7 ขึ้น ไม่กี่นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก และเตือนว่า “อาจเกิดแผ่นดินไหวมากกว่านี้”


รีเบคกา เบลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจาก Imperial College London (ICL) ระบุว่า นี่คือรอยเลื่อนแบบชนข้าง” ของรอยเลื่อนสะกาย


นี่คือจุดที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียทางทิศตะวันตกมาบรรจบกับแผ่นซุนดา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดและการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกับรอยเลื่อนซานแอนเดรียสในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ


รอยเลื่อนสะกายมีความยาวมากถึง 1,200 กิโลเมตร และตรงมาก จึงอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เป็นบริเวณกว้าง และยิ่งรอยเลื่อนเคลื่อนตัวมากเท่าไร แผ่นดินไหวก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น


แผ่นดินไหวในกรณีดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายได้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับที่ตื้น พลังงานแผ่นดินไหวจึงลดลงเพียงเล็กน้อย ก่อนไปถึงพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ด้านบน เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนที่พื้นผิวมาก

ตึกสูงในมัณฑะเลย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีตึกถล่มมาก


เอียน วาคินสัน จากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัย Royal Holloway แห่งลอนดอน กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือ อาคารสูงที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่เพิ่มขึ้น


เมียนมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมาหลายปี และการบังคับใช้เรื่องกฎการออกแบบและการก่อสร้างอาคารก็ไม่เข้มงวดนัก


เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูดขึ้นไป ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในบริเวณรอยเลื่อนสะกาย ตอนนั้นเมียนมายังไม่มีการพัฒนามากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารโครงไม้เตี้ย ๆ และศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงมาก


แผ่นดินไหวในครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมายุคใหม่ครั้งแรก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่มีจุดศูนย์กลางไม่ลึก และเกิดใกล้กับเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงสร้างใหม่จำนวนมาก


รัฐบาลควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดกฎเกณฑ์การวางแผนและกฎหมายการก่อสร้าง แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ เผยให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าล้มเหลวในการดำเนินการตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่านี้


กรุงเทพฯ อยู่ไกล ทำไมตึกถล่ม


คริสเตียน มาลากา-ชูกีไตป์ จากแผนกวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมของ ICL กล่าวว่า พื้นดินในกรุงเทพฯ มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง แม้ว่าจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมาถึง 1,000 กิโลเมตรก็ตาม


แม้ว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ห่างจากรอยเลื่อนที่ยังเคลื่อนตัวอยู่มาก แต่ดินที่อ่อนตัวของกรุงเทพฯ ก็ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงโดยเฉพาะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระยะไกล


มาลากา-ชูกีไตป์ กล่าวว่า เทคนิคการก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่เน้นใช้ “แผ่นพื้นเรียบ” ซึ่งพื้นจะยึดด้วยเสาเท่านั้น ไม่ใช้คานเสริม อย่างเช่น โต๊ะที่มีขารองเท่านั้น ถือเป็น “การออกแบบที่มีปัญหา”


เขากล่าวว่า จากการวิเคราะห์วิดีโอเบื้องต้นของอาคารที่ถล่มในกรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้เทคนิคการก่อสร้างประเภทนี้


อาคารจะมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยมักจะพังทลายลงอย่างกะทันหันและเปราะบาง


โรแบร์โต เจนติล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองความเสี่ยงจากภัยพิบัติจาก UCL กล่าวว่า การที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ พังทลายลงมาอย่างรุนแรง หมายความว่า อาคารสูงอื่นๆ ในตัวเมืองอาจต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนเช่นกัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง