รีเซต

เงินเฟ้อพ.ค. ติดลบ 3.44% ร่วงต่ำสุดรอบ 10 ปี 10 เดือน - ชี้แค่เงินฝืดทางเทคนิค

เงินเฟ้อพ.ค. ติดลบ 3.44% ร่วงต่ำสุดรอบ 10 ปี 10 เดือน - ชี้แค่เงินฝืดทางเทคนิค
ข่าวสด
4 มิถุนายน 2563 ( 14:09 )
63

 

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ติดลบ 3.44% ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน เหตุได้รับแรงฉุดจากราคาน้ำมันที่ลดลง - ชี้แค่เงินฝืดทางเทคนิคไม่ใช่การฝืดจริง

 

เงินเฟ้อพ.ค. ติดลบ 3.44% - น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค. 2563 ลดลง 3.44% ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือนนับจากก.ค. 2552 ที่ลดลง 4.4% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการปรับขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา และลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ รวมทั้งยังมีการลดลงของราคาผักสด ที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นไม่มาก ไม่สามารถไปลดสัดส่วนในกลุ่มที่ลดลงแรงได้ จึงเป็นปัจจัยทำให้เงินเฟ้อลดลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ลดลง 1.04%

 

“หากมองตามทฤษฎี ตอนนี้เกิดเงินฝืดทางเทคนิค เพราะเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน โดยมี.ค. ลบ 0.54% เม.ย.ลบ 2.99% และพ.ค.ลบ 3.44% แต่ไม่ใช่การฝืดจริง จึงไม่น่ากังวล เพราะหากดูลึกลงไป ราคาสินค้าหลายตัว ทั้งอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ได้ลดลง เป็นบวกด้วยซ้ำ แต่บวกไม่เยอะ เรียกว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ ไม่สามารถไปลดในสัดส่วนที่ลดลงมากของน้ำมัน ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และมาตรการลดค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำร่วมกับผู้ประกอบการลงได้ ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าเงินฝืดแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจแย่”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

 

ทั้งนี้ หากดูเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก ยังคงเพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวทางด้านราคา ส่วนยอดรวม 5 เดือน ลดลง 0.40%

 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะเดือนพ.ค. 2563 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำที่สุดของปีนี้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จากการคลายล็อกดาวน์ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวและปรับตัวสูงขึ้น ส่วนค่าไฟฟ้า น้ำประปา ก็สิ้นสุดมาตรการลงแล้ว เงินเฟ้อน่าจะเริ่มขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังคงประเมินว่าทั้งปีเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในแดนลบ คงไม่กลับมาเป็นบวก เพราะฐานน้ำมันปีก่อนยังสูง ส่วนตัวเลขที่ชัดเจน ขอรอดูเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 2563 ก่อน ถึงจะประเมินอีกครั้ง แต่ตัวเลขปัจจุบันประเมินเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.6%

 

สำหรับปัจจัยที่มองว่า จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาขยายตัว มาจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ คนเริ่มกลับมาใช้จ่าย และยังมีการทยอยเปิดการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด รัฐบาลกำลังมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียน ซึ่งมีผลต่อราคาสินค้า ขณะที่ภัยแล้ง แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามราคาสินค้าเกษตรบางตัวอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

“แม้จะมีหลายปัจจัยแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ยังคงมั่นใจว่าประเทศไทยยังมีสินค้าเพียงพอต่อการบริโภคและสินค้าไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน และจากมาตรการของรัฐที่เริ่มผ่อนคลายในหลายกิจกรรมมากขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าและการบริโภค และเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีผลสำคัญแต่ก็ต้องการให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้นซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยดีขึ้น ส่วนปัญหาภัยแล้งซึ่งมีผลต่อเงินเฟ้อนั้นก็เริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังต้องติดตามถึงผลกระทบต่อไป” ผอ.สนค. กล่าว

 

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพ.ค. 2563 จำนวน 422 รายการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 195 รายการ อาทิ ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช เนื้อสุกร ไข่ไก่ กระเทียม กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ (ค่าเช่ารถตู้) ค่าเช่าบ้าน สินค้าลดลง 151 รายการ อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สโซฮออล์ 91 แก๊สโซฮอลล์ 95 แก๊สโซฮฮอล์ E20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่าน้ำปะปา พริกสด และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 76 รายการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง