ดอกเบี้ยบ้านปี 2564 พร้อมวิธีคำนวณอย่างง่าย ไม่ต้องฝ่าโควิด-19ไปแบงก์
อัปเดตดอกเบี้ยบ้านประจำเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 อีกระรอก ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังน่าเป็นห่วงจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคลัสเตอร์ทองหล่อ และได้แพร่กระจายออกไปยังหลายพื้นที่ โดยหลักๆแล้วธนาคารส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรกคงที่จากเดือน มีนาคม ปี 2564 จะมีธนาคารเพียงบางแห่งที่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ซึ่ง TNN ONLINE ได้รวบรวมข้อมูล ดอกเบี้ยปี 2564 ประจำเดือน เมษายน จาก 6 ธนาคาร ทั้งการคิดอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขในการขอสินเชื่อของแต่ละธนาคารว่ามีอะไรบ้าง เผื่อว่าใครกำลังมองหาธนาคารเพื่อขอสินเชื่อบ้าน จะได้เป็นตัวช่วยในการพิจารณาและตัดสินใจเลือกสินเชื่อได้ง่ายขึ้น พร้อมวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบ้านในเบื้องต้นมาฝากกัน
รวม ดอกเบี้ยบ้านปี 2564 ของแต่ละธนาคารประจำเดือนเมษายน 2564
- ธนาคารธอส
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผลิตภัณฑ์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย Two-Gen ซึ่งเปิดให้ทำนิติกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยมีเงื่อนไขเฉพาะกรณีกู้ใหม่ และทางธนาคารสงวนสิทธิ์ในการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการก่อนกำหนด หากธนาคารให้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการแล้ว และมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำสุด 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.37% เท่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านอื่น ๆที่มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ซึ่งก็ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่ร่วมกับนโยบายรัฐ โครงการบ้านจัดสรรที่ธนาคารกำหนด ตลอดจน โครงการสำหรับผู้สูงอายุ และสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะมีระยะเวลาหมดเขตในการขอสินเชื่อตามที่ธนาคารกำหนด โดยสามารถดูอัตราดอกเบี้ยเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ เว็บไซต์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐอีกหนึ่งแห่ง ที่นอกจากสินเชื่อร่วมกับมาตรการรัฐแล้ว ทางธนาคารยังมีผลิตภัณ์สินเชื่อบ้านอื่น ๆ ที่หลากหลายขึ้น เช่น สินเชื่อเคหะสำหรับบุคคลทั่วไป สินเชื่อเคหะสำหรับกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เป็นตัวเลือกสำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดย อัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด และให้วงเงินสูงสุดไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมินหลักทรัพย์แล้วแต่ราคาใดที่ต่ำกว่า หากใครสนใจก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ของ ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทย ก็มีสินเชื่อบ้านที่น่าสนใจอยู่หลายผลิตภัณฑ์อย่างเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรภาครัฐ โดยทางธนาคารใช้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา (MLR) เป็นตัวกำหนดดอกเบี้ย โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 3.83% ส่วนกรณีการขอสินเชื่อบ้านใหม่ แบบไม่ได้ทำประกัน ของ ธนาคารกรุงไทย มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกต่ำสุดอยู่ที่ 2.83% ขณะที่ กรณีขอสินเชื่อบ้านใหม่ แบบทำประกัน มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกต่ำสุดอยู่ที่ 2.73% โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรกอยู่ที่ 0.64% ปีที่ 2 และปีที่ 3 MRR-2.45% โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินให้ MRR ปัจจุบันที่ 6.22% สามารถศึกษาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงศรี
สำหรับ ธนาคารกรุงศรี มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำสุด 3 ปีแรกของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ 2.55% สำหรับคอนโดฯ ที่มีราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป และ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และคอนโดฯ ที่มีราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกลุ่มอาชีพพิเศษ (แพทย์, สัตวแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, ผู้พิพากษา และนักบินพาณิชย์) และ ลูกค้ากรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ (สำหรับผู้มีเงินฝากและ/หรือเงินลงทุนกับธนาคาร 5 ล้านบาทขึ้นไป)
นอกจากนั้น ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านสำหรับ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมีความแตกต่างการจากกู้ร่วมแบบเดิม คือ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้ แต่จะพิจารณาจากรายได้ ศักยภาพในการชำระคืน และเครดิตของผู้กู้ทั้ง 2 ท่าน รวมถึงการตรวจสอบเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ และต้องเป็นการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จากโครงการในกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์พันธมิตรซึ่งธนาคารให้การสนับสนุนโดยราคาซื้อขาย (หลังหักส่วนลดทั้งหมดแล้ว) ตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป
โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อทั้งหมด มีวงเงินกู้สูงสุดอยู่ที่ 100% ของราคาประเมินและราคาซื้อขาย รวมไปถึงสิทธิพิเศษจากธนาคาร คือ ดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อปี นาน 1 ปี ฟรีค่าประเมินหลักประกัน และฟรีค่าจดจำนองเมื่อซื้อ MRTA / MLTA ตามเงื่อนไขที่กำหนด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ ธนาคารกรุงศรี
- ธนาคารกสิกร
สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย แบ่งผลิตภัณฑ์การขอสินเชื่อบ้าน 2 รูปแบบ คือ สำหรับพนักงานที่มีรายได้ประจำ โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 4.75% ส่วนสินเชื่อบ้านสำหรับ ผู้ประกอบการ มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 5.25% โดย ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ และดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขของการทำประกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าว สำหรับพนักงานบริษัท และผู้ประกอบการ มีวงเงินกู้สูงสุดได้ไม่เกิน 90% ของราคาซื้อขาย และไม่เกิน 90% ของราคาประเมินหลักประกัน ศึกษาข้อมูลเพิ่มที่เว็บไซต์ ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ เองก็มีอัตราดอกเบี้ยทางเลือกสำหรับทั่วไปที่น่าสนใจ โดยธนาคารให้วงเงินกู้สูงสุด 100% จากราคาประเมินหลักประกัน กรณีลูกค้าโครงการ / ลูกค้าองค์กร จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ขึ้นอยู่กับประเภทโครงการ หรือประเภทองค์กร โดยผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านใหม่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
แบบที่ 1 (ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อมากกว่า 70% ของวงเงินกู้) มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอด 3 ปีแรกอยู่ที่ 5.95%
และแบบที่ 2 (ไม่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ) มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอด 3 ปีแรกอยู่ที่ 5.995%
อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไม่บ่อยมากนัก ประมาณ 1 ไตรมาสหรือครึ่งปีต่อครั้ง
วิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้านปี 2564
หากต้องการคำนวณดอกเบี้ยธนาคารแบบง่าย ในแต่ละธนาคารก็จะมีเครื่องมือคำนวณสำเร็จรูปไว้ให้เราได้ใช้ เพื่อประเมินและวางแผนการใช้จ่ายของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกระรอก ยิ่งต้องเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่าย แต่หากมีกำลังพอที่จะยื่นกู้แล้ว การคำนวณดอกเบี้ยก่อนในเบื้องต้นก็จะช่วยให้เราวางแผนการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) เพียงกรอกจำนวนเงินที่ขอกู้ ระยะเวลาที่ขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ ก็จะได้ผลการประเมินดอกเบี้ยคร่าวๆออกมาให้เราได้
คลิกเพื่อคำนวณดอกเบี้ยบ้านกับ ธอส
ภาพประกอบ: เว็บไซต์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีทำอย่างไรและใช้ลดหย่อนได้เท่าไหร่?
ดอกเบี้ยบ้านปี 2564 นั้นยังสามารถนำไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน โดยจัดอยู่ในหมวดลดหย่อนภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ สำหรับผู้ที่กำลังกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโด โดยสิทธิในการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านนั้น ผู้มีเงินได้สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาใช้ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากมีการกู้อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อคอนโดราคา 2 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้าน 4% ต่อปี เท่ากับ 80,000 บาท ถ้าคุณต้องจ่ายภาษีในอัตรา 5% (ผู้มีรายได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท) การใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ จะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้ 5% ของ 80,000 บาท เท่ากับ 4,000 บาท
ส่วนกรณี ซื้อบ้านในราคา 8 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้าน 5% ต่อปี เท่ากับ 400,000 บาท แต่ด้วยเงื่อนไขที่จำกัดการใช้ดอกเบี้ยบ้าน ลดภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ในกรณีนี้คุณจึงสามารถลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้เพียงแค่ 100,000 บาทเท่านั้น ถ้าคุณต้องจ่ายภาษีในอัตรา 15% (ผู้มีรายได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท) เท่ากับว่าการใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ จะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้ 15% ของ 100,000 บาท เท่ากับ 15,000 บาท นั่นเอง
ส่วนกรณีซื้อบ้านหลังที่ 1 ราคา 5 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้าน 4% ต่อปี เท่ากับ 200,000 บาท บ้านหลังที่ 2 ราคา 2 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้าน 4% ต่อปี เท่ากับ 80,000 บาท เท่ากับว่าคุณต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมต่อปี เป็นจำนวน 280,000 บาท ซึ่งการใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ จะเข้าเงื่อนไขแบบเดียวกับตัวอย่างที่ 2 ที่จำกัดการใช้ดอกเบี้ยบ้าน ลดภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ไม่ว่าจะกู้ซื้อบ้านกี่หลังก็ตาม
ถ้าคุณต้องจ่ายภาษีในอัตรา 20% (ผู้มีรายได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท) การใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ จะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้ 20% ของ 100,000 บาท เท่ากับ 20,000 บาท นั่นเอง
แม้ว่าจะมีเครื่องมือการคำนวณดอกเบี้ยบ้าน 2564 แต่หากต้องการข้อมูลอย่างละเอียด แนะนำว่าให้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เราต้องการขอยื่นสินเชื่อโดยตรง หรือ โทรสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อ เพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และที่สำคัญควรศึกษาข้อมูลหลายๆธนาคารเพื่อนำมาเปรียบเทียบว่ายื่นกู้กับธนาคารไหนตอบโจทย์และคุ้มค่ากับเราที่สุด เพราะหนี้บ้านนั้น จะเป็นหนี้ก้อนโตที่อยู่กับเราไปอีกหลายสิบปี!!