รีเซต

หลังโควิดระบาดเบาบาง พณ.จับมือเอกชน จัดฟู้ดทรัคมาร์ท ฟื้นค้าขายริมถนน

หลังโควิดระบาดเบาบาง พณ.จับมือเอกชน จัดฟู้ดทรัคมาร์ท ฟื้นค้าขายริมถนน
มติชน
15 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:28 )
54

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัคมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากธุรกิจฟู้ดทรัคสามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจหรือต้องการเงินลงทุนเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินง่ายขึ้น  และจากหารือกับผู้ประกอบการแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจแบบหน้าร้าน และมีที่นั่งทานอาหารในร้านเป็นหลัก เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม  กระทบต่อธุรกิจร้านอาหารทันที  แม้เพิ่มช่องทางการให้บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี แต่ยอดขายยังไม่โตเท่าที่ควร  จึงเห็นว่าขยายลงทุนรถอาหารเคลื่อนที่(ฟู้ดทรัค) จะเป็นการเพิ่มอัตราส่วนของรายได้และฐานลูกค้า โดยสั่งการให้เตรียมพร้อม เพราะเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มเบาบาง จะจัดงานคาราวาน ฟู้ดทรัค มาร์ท ออนทัวร์ สนับสนุนผู้ประกอบการฟู้ดทรัคที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย รวมถึงขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคต่างๆของเจ้าของแฟรนไชน์  รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

 

“ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ผู้สั่งอาหารส่วนใหญ่กว่า 80% ไม่ต้องการเดินทางไปที่ร้านอาหาร และกว่า 58% สั่งตรงจากทางร้านไม่ผ่านแอพพลิเคชั่น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยทั้งร้านอาหาร ร้านค้าแผงลอย และบุคคลธรรมดาที่จะเข้าสู่ตลาดธุรกิจฟู้ดทรัค  ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ประมาณ 2,800 คัน ส่วนใหญ่ 60% อยู่ภาคกลาง สัดส่วนการจำหน่าย 27% สั่งประเภทอาหารอินเตอร์  ตามด้วยเครื่องดื่ม อาหารไทย อาหารว่าง โดยเฉลี่ย เงินลงทุน (รถใหม่) เริ่มต้น 5 แสน – 1 ล้านบาท รายได้เฉลี่ยต่อคันต่อปีกว่า 1 ล้านบาท  หรือ 4,000 บาท ต่อ 22 วัน อัตราการเติบโตของธุรกิจปีละ 20 %” นายวีรศักดิ์ กล่าว

 

นายญาณเดช ศิรินุกูลชร ประธานและผู้ก่อตั้ง TBIC Food Truck Thailand กล่าวว่า  การระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการฟู้ดทรัคโดยตรง เนื่องจากพื้นที่ขายที่ผู้คนออกมาซื้อสินค้า เกือบทุกพื้นที่ไม่เปิดให้บริการ ทำให้ฟู้ดทรัคต้องปรับตัว ไปจอดบริเวณหน้าหมู่บ้าน เพื่อให้บริการคนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าและมากกว่าสถานการณ์ปกติ  ทั้งนี้ ต้นปี 2563 การออกรถฟู้ดทรัคคันใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหยุดชะงักไปบ้าง แต่ในช่วงไตรมาส 3 – 4 กลับมีการสั่งซื้อและผลิตรถฟู้ดทรัคทั้งในรูปแบบของรถกระบะและเทรลเลอร์มากขึ้น ทำให้ปลายปี 2563 รถฟู้ดทรัคเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 คันทั่วประเทศ จากต้นปี 2563 มี 2,500 คัน หรือ  เพิ่มขึ้น 12 % อีกทั้ง ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเลิกประกอบกิจการมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินกิจการแปรผันตามยอดขายในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก

 

“ ขณะที่ต้นทุนคงที่ในการดำเนินกิจการค่อนข้างต่ำ ทำให้การประกอบธุรกิจฟู้ดทรัคมีความยืดหยุ่นและมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับร้านอาหารทั่วไป มูลค่าการตลาดของธุรกิจฟู้ดทรัค ปี 2562 อยู่ที่ 2,640 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 2,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 316 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 11.97 โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ระดับประเทศร่วมโดดลงเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย”  นายญาณเดช กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง