‘เต้าหู้ขน’ คืออะไร อ.เจษฎ์ ตอบแล้วกินได้จริงหรือไม่ มีอันตรายไหม?
จากกรณีในโลก TikTok มีชาวเน็ตรายหนึ่งได้สอนทำเมนู ‘เต้าหู้ขน’ แบบอาหารจีน ด้วยการนำเต้าหู้มาหมักบ่มกับเชื้อราที่ใช้ทำเทมเป้ จนมีราสีขาว ขึ้นฟูฟ่อง แล้วนำมากินให้ดู เกิดเป็นกระแสคำถามในโลกโซเชียลว่า จริง ๆ แล้วสามารถรับประทานได้จริงหรือไม่ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นเชื้อรา ไม่น่าเป็นสิ่งที่ควรจะนำมารับประทานเป็นอาหาร
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เฉลยข้อสงสัยนี้แล้ว โดยโพสต์ผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า “เชื้อราเทมเป้ แก่แล้วเป็นสีดำ และยังกินได้" เป็นเรื่องจริงครับ แต่ควรทำให้สุก และมีข้อควรระวังด้วยนะ”
คำตอบคร่าวๆ คือ เชื้อราเทมเป้ที่เอามาใช้ทำเต้าหู้ขนนั้น เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่นำมาบริโภคได้ โดยไม่อันตรายกับคนทั่วไปครับ (แต่ต้องระวังในคนที่มีโอกาสแพ้เชื้อรา หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ) และเมื่อเจริญเติบโตจนถึงช่วงสร้างสปอร์แล้ว ก็จะมีสปอร์สีดำจริง ๆ ครับ แต่ทั้งหมดนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อรา ชนิดอื่นๆ ที่มากับอากาศ และเจริญเติบโตแทรกลงไปด้วยนะครับ ! ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์พวกนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้
ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้มีเชื้ออื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาก็ตาม ก็ควรจะนำไปทำเป็นอาหารที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็นการทอด , ย่าง , ผัด ฯลฯ เสียก่อน ดีกว่านำมากินสด ๆ อย่างในคลิปครับ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็ควรมองในเชิงการได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (หรือที่เรียกว่า prebiotics พรีไบโอติกส์) มากกว่าที่จะกินเพื่อเอาเชื้อราที่ยังมีชีวิต (หรือ probiotics โปรไบโอติกส์) เข้าไป
‘เต้าหู้ขน’ คืออะไร
- เต้าหู้ขน หรือ hairy tofu เป็นเต้าหู้ที่นิยมชนิดหนึ่งในประเทศจีน ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิเศษกว่าเต้าหู้ชนิดอื่นๆ คือ ผ่านกระบวนการหมักด้วยเชื้อรานุ่มขาวราวปุยนุ่น
- ประกอบด้วยเชื้อราหลากหลายชนิด ทั้งเชื้อรากลุ่ม Actinomucor และ Mucor หรือเป็นเชื้อรากลุ่ม Rhizopus (Nout and Aldoo, 2010) ซึ่งเป็นเชื้อราชั้นต่ำจึงมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 12-25 องศาเซลเซียส
- เต้าหู้ชนิดนี้จึงไม่นิยมหมักกันในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูง
- เชื้อราดังกล่าวจะเร่งการจับตัวของโปรตีนระหว่างทำเต้าหู้ และช่วยย่อยโปรตีนด้วยเอนไซม์โปรติเอส ให้เป็นกรดอะมิโนขนาดเล็ก ทำให้เต้าหู้ที่ผ่านการหมักมีรสชาติที่เข้มข้นกว่าปกติ
- นิยมนำไปทอด หรือย่างกินกับซอสพริก
เทมเป้และประโยชน์จากการบริโภค
- เทมเป้ เป็นอาหารดั้งเดิมของอินโดนีเซีย ทำจากถั่วเหลืองที่ผ่านการหมักและย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์จนมีลักษณะเป็นก้อน เนื้อสัมผัสแห้งและหนึบ
- สามารถรับประทานได้ทันทีหรือจะนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีผัด ย่าง ทอด หรือนึ่ง ก็ได้เช่นกัน
- เทมเป้ยังอุดมไปด้วยโปรตีน พรีไบโอติกส์ (prebiotics) วิตามินและแร่ธาตุ เช่น เหล็ก โซเดียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ดีต่อสุขภาพลำไส้ ลดคอเลสเตอรอล ลดการอักเสบ ส่งเสริมสุขภาพกระดูก
- เทมเป้ทำจากถั่วเหลืองที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากพืช สามารถรับประทานเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย อาจช่วยควบคุมความอยากอาหาร และอาจช่วยลดน้ำหนัก
- เทมเป้เป็นอาหารที่ผ่านการหมักด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียดีๆ ในลำไส้ และอาจช่วยให้พวกมันเจริญเติบโตได้ดี จึงอาจส่งผลให้ลำไส้มีสุขภาพดี และสามารถย่อยอาหารได้ดีขึ้น
- เทมเป้ที่ทำจากถั่วเหลืองอุดมไปด้วยโปรตีน และไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยลดไขมันไม่ดี และช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ในกระแสเลือด
- เทมเป้มีถั่วเหลืองที่อุดมไปด้วยสารประกอบไอโซฟลาโวน ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยต้านการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- เทมเป้อุดมไปด้วยแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างมวลกระดูกและเสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะมวลกระดูกต่ำ รวมถึงอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้
ข้อควรระวังในการบริโภคเทมเป้
- สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการอาจต้องระวังในการบริโภคเทมเป้ ดังนี้
1. อาการแพ้ ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเทมเป้ เนื่องจากเทมเป้มีส่วนผสมของถั่วเหลืองเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้กำเริบได้ เช่น ลมพิษ คัน ผื่นแดง หายใจลำบาก
2. ภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง ผู้ที่มีภาวะนี้อาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเทมเป้ เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งเป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย และยังสามารถรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ จึงอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานแย่ลง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง
ข้อมูลจาก : เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์