รีเซต

ปลัด สธ.นำทีมแถลงพร้อมรับมือ "โควิด-19" รอบ 2 เชื่อ! มาแน่ แต่เอาอยู่ ขอปชช.มั่นใจ-สวมหน้ากาก

ปลัด สธ.นำทีมแถลงพร้อมรับมือ "โควิด-19" รอบ 2 เชื่อ! มาแน่ แต่เอาอยู่ ขอปชช.มั่นใจ-สวมหน้ากาก
มติชน
16 กรกฎาคม 2563 ( 13:47 )
112
ปลัด สธ.นำทีมแถลงพร้อมรับมือ “โควิด-19” รอบ 2 เชื่อ! มาแน่ แต่เอาอยู่ ขอปชช.มั่นใจ-สวมหน้ากาก

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นำอธิบดีจากทุกกรม แถลงแสดงความพร้อมทางสาธารณสุขในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะระบาดในรอบที่ 2 ว่า ในวันนี้คณะผู้บริหาร สธ.จากทุกกรม มาร่วมกันแถลงข่าวเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นจากที่ไม่มีความรู้ แต่ด้วยความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ทำให้ประเทศจากที่เคยเป็นอันดับ 2 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเดือนมกราคม

“ขณะนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) ไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก เพราะแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยยาตั้งแต่ต้นและดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจอแอลกอฮอล์ และความพร้อมทางการแพทย์ขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,000 รายต่อวัน ดังนั้น ทิศทางในการเกิดการระบาดระลอก 2 มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้” นพ.สุขุม กล่าว

ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วย แต่อาจมีเชื้ออยู่ในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine)
การที่ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ทำให้ไม่พบผู้ป่วย โดยโอกาสของการแพร่เชื้อ คือ หากไม่สวมหน้าอนามัยทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันจะมีโอกาสแพร่เชื้อร้อยละ 70 แต่หากสวมหน้ากากอนามัยทั้งคู่จะมีโอกาสแพร่เชื้อร้อยละ 1.5 จึงเป็นส่วนสำคัญ

“เราพูดกันมาตลอดว่า อาจจะมีคนติดเชื้อ เราจะอยู่กับมันได้ ถ้าเกิดเราร่วมมือกัน เพราะเราสวมหน้ากากทุกคน โอกาสการแพร่เชื้อจึงไม่มี อย่างไรก็ตาม ในการผ่อนปรนระยะที่ 5 เพราะเชื่อว่าเราพร้อม และเชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ การคาดการณ์ต่อไปคือ อาจจะพบผู้ติดเชื้อ แต่จะสามารถตรวจจับและควบคุมได้เร็ว เช่น กรณี จ.ระยอง เป็นกรณีที่เราตรวจพบและดำเนินการในเชิงรุก โดยการใช้รถชีวนิรภัยที่เป็นรถพระราชทาน ลงไปค้นหา วันแรกตรวจไป 1,336 ราย เป็นผลลบทั้งหมด และวันที่ 15 กรกฎาคม ได้ตรวจ 1,252 ราย คาดว่าจะลบเช่นเดียวกัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ต่อให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น จะต้องเลือกจัดการเป็นจุด ปิดกิจการ/กิจกรรม แต่ไม่เลือกปิดพื้นที่

“จ.ระยอง เป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นเป็นจุด ไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการปิดทั้งจังหวัด และประชาชน จ.ระยอง ไม่ได้มีความเสี่ยงทั้งหมด ทั้งนี้ ความสามารถในการตรวจจับ ขณะนี้มีทีมสอบสวนโรคมากกว่า 2,000 ทีม ครอบคลุมทั้งประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน เราไม่เชื่อว่าจะไม่เกิดการติดเชื้อในประเทศ แต่เรายันว่า ถ้ามันจะเกิด เราเคยทำได้มาแล้วผมยืนยัน และเราจะทำได้ดี เพียงแต่ว่าเราต้องร่วมมือกันทั้งหมด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีของ จ.ระยอง ทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนก และอาจเกิดความเครียด เบื่อหน่าย ท้อแท้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และในบางรายอาจจะมีความโกรธ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายว่าจะมีการระบาดระลอก 2 หรือไม่ แต่ในปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น การต่อสู้กับเชื้ออุบัติใหม่ จะต้องต่อสู้ด้วยความรู้การป้องกันด้วยร่างกายที่เข้มแข็งพร้อมด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง จะต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก มีสติในการดูแลป้องกันตนเอง

“เราเคยเผชิญอย่างนี้มาแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคมและเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คล้ายกันแต่หากเรารู้วิธีการป้องกัน อย่างที่เคยได้ทำมาคือการสวมหน้ากากอนามัย รักษาสุขอนามัยส่วนตัว โดยกรมสุขภาพจิตจะส่งทีมลงไปดูแลด้านจิตใจ ให้แก่คนในพื้นที่ อยากให้ประชาชนสู้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เราผ่านจุดนี้ไปได้อย่างสวยงาม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สธ. ได้มีการเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดระลอก 2 ภาพรวมทั้งประเทศมีจำนวนเตียงกว่า 20,000 เตียง ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนกว่า 2,400 เตียง โดยความสามารถในการรองรับผู้ป่วยรายใหม่ 1,000 รายต่อวัน คิดจาก 1,000 รายคูณด้วย 14 วันของระยะการพักรักษา นอกจากนี้ยังมีฮอสปิเทล (hospital) ที่ได้ทำการปิดไปแล้วเนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศค่อนข้างดี

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ขณะนี้มีการจัดสรรในระบบของสาธารณสุขเพื่อกระจายไปยังทุกโรงพยาบาลและหน่วยบริการทุกสังกัด กำลังการผลิตภายในประเทศอยู่ 3 ล้านชิ้นต่อวัน หน้ากาก N95 มีสำรองใช้ประมาณ 1.7 ล้านชิ้น ใช้สำหรับผู้ป่วยกว่า 1 หมื่นราย และชุดป้องกัน PEE มีสำรองกว่า 1 ล้านชุด ยาที่ใช้ทำการรักษา คือ ฟาวิพิลาเวียร์ มีสำรองใช้ประมาณกว่า 6 แสนเม็ด สำหรับรักษาผู้ป่วย 9,000 ราย และวัคซีน ทาง อย.สนับสนุนเต็มที่ และขณะนี้ประเทศไทยมี วัคซีนของทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่กำลังพัฒนาเพื่อไปในกระบวนการทดลองในมนุษย์ โดย อย.จะดูทั้งตัววัคซีนและโรงงานผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีคุณภาพในการใช้

ทั้งนี้ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในวันนี้มีข่าวดีของการวิจัยสารสกัดฟ้าทะลายโจร โดยเหตุที่ทำให้วิจัยล่าช้าเนื่องจากไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ แต่ในขณะนี้การวิจัยได้เริ่มในผู้ป่วยจำนวน 6 ราย ผลอย่างไม่เป็นทางการพบว่า การใช้สารสกัดฟ้าทลายโจรขนาด 3 เท่าของปกติให้ผลว่า อาการแสดงดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดย 3 วันแรก อาการไอลดลง เสมหะและเจ็บคอลดลง และภายใน 5 วัน มีผลดีขึ้นอย่างชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง