รีเซต

เช็กเส้นทางไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน โอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(ตอน 11 )

เช็กเส้นทางไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน โอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(ตอน 11 )
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2564 ( 16:21 )
181

ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันก็มีความคืบหน้าไปแล้วหลายเส้นทาง ขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนยังเดินหน้าตามแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หนึ่งในส่วนสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือ อีอีซี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับ พัฒนาศักยภาพของระบบขนส่งทางราง และช่วยกระจายความเจริญไปสู่เมืองรอง รวมไปถึงชุมชนโดยรอบ เพราะนอกจากการกระตุ้นการลงทุน การเกิดธุรกิจเพิ่มขึ้นในชุมชนแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกและร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมืองให้ลดลง นายรัฐภูมิ ปริชาติปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานวิศวกรรมระบบราง จาก วสท กล่าวว่า ทั่วโลกมีการใช้ไฮสปีดเทรนด์ ในการเชื่อมจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง เพื่อร่นระยะเวลา ขนผู้โดยสารไปคราวละมากๆ ทำให้การเคลื่อนย้าย คน สิ่งของดำเนินการได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ทำให้ระบบขนส่งทางรางโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงถึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ที่เลือกใช้เป็นระบบขนส่งหลัก หรือประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นระบบขนส่งที่เป็นBackbone ที่ใช้ขนส่งผู้โดยสาร 

สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา )ซึ่งรับผิดชอบโดยบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน  ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าตามแผนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเบื้องต้นวางแผนเส้นทางเพื่อเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ไว้ทั้งหมด 15 สถานี  แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟในเมือง รวมระยะทาง 60 กม.เมตร  มีทั้งหมด 10 สถานี ได้แก่  สถานีดอนเมือง  บางซื่อ  พญาไท  ราชปรารภ  มักกะสัน ( EEC GATEWAY)  รามคำแหง  หัวหมาก  บ้านทับช้าง  ลาดกระบัง สุวรรณภูมิ และเส้นทางรถไฟระหว่างเมือง ระยะทาง 160 กม.เมตร  รวม 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี  ศรีราชา  พัทยา และอู่ตะเภา สามารถ ใช้ความเร็วได้ 250 กม./ชม.

แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน หากนับจากสถานีดอนเมือง จะพบว่าสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากสถานีดอนเมือง สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมือง ทำให้สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ไปยังรังสิต ปทุมธานี ต่อเนื่องไปจนถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ได้ง่ายมากขึ้น 

หากต้องการจะเดินทางจากสนามบินดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง เพื่อต่อไปยังพื้นที่ย่านฝั่งธนฯ ก็สามารถเดินทางมาลงที่สถานีบางซื่อ เพื่อเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือ อยากจะเดินทางไปยังฝั่งนนทบุรีก็ยังสามารถเชื่อมต่อจากสถานีบางซื่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน ได้อย่างสะดวก

ส่วนใครอยากจะเดินทางเข้าไปยังกรุงเทพฯชั้นใน ก็สามารถมาลงที่สถานี พญาไท เพื่อเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สามารถเดินทางได้เชื่อมต่อไปยังสายสีลม หรือสายสุขุมวิท ต่อไปยังพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี ด้วยสายสีเขียวส่วนต่อขยายก็ได้ด้วยเช่นกัน 

แต่หากต้องการจะเดินทางมายังย่านรัชดา สามารถเชื่อมต่อได้ที่สถานี มักกะสัน ด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่สถานี เพชรบุรี  ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเส้นทางวิ่งในเมืองที่กล่าวมานั้น ก็มีหลายเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งทางราง หรือเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งด้านอื่นๆได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ซึ่งในบางจุดยังสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งทางรางได้แบบไม่มีสะดุด  ขณะเดียวกันในอนาคตก็จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ๆที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินพัฒนา อย่างเช่น สายสีส้ม สายสีชมพู หรือสายสีเหลือง ที่ในแต่ละเส้นทางก็มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางได้มากขึ้น รวมกันเป็นโครงข่ายระบบขนส่งทางรางที่มุ่งหวังจะเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน 

ในท้ายที่สุดแล้ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่นอกจากจะพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลแล้ว แนวเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกและอีอีซีถือเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียง สามารถต่อยอดไปยังหลายอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว ที่เชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากในเมืองไปยังแหล่งท่องเที่ยวฝั่งตะวันออก ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทาง เพิ่มโอกาสหรือเพิ่มช่วงเวลาพักผ่อนได้มากขึ้น   ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์  ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับการขยายตัวของเมืองตามแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูง เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้กระจายลงสู่พื้นที่ได้อีกมาก ภายใต้แผนพัฒนามาตรฐานระบบรางปี 2570 ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง