สรุปรีด6โรงกลั่น3เดือน PTTเพิ่มลงทุน9หมื่นล้าน
#PTT #โรงกลั่น#ทันหุ้น - รัฐบาลสรุปขอความร่วมมือ 6 โรงกลั่นส่งกำไรช่วยประเทศ 3 เดือน คาดจัดเก็บเดือนละ 7 พันล้านบาท ส่งผลเบนซินราคาลงทันที 1 บาทต่อลิตร พร้อมให้โรงแยกก๊าซส่งกำไรส่วนเกิน 50% เข้าอีก 1.5 ล้านบาทต่อเดือน ด้าน PTT ประกาศลงทุนเพิ่มปีนี้เท่าตัวเป็น 9.1 หมื่นล้านบาท
ที่ประชุมเศรษฐกิจฉุกเฉิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น มีมติเห็นชอบขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย TOP, IRPC, PTTGC, BCP, ESSO, SPRC ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 6-7 พันล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน และเบนซิน 1 พันล้านบาทต่อเดือน
ซึ่งในส่วนของเบนซินจะนำมาเป็นส่วนลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินทันที 1 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลจะเอาเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อช่วยสถานะกองทุนน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ติดลบอยู่ 9 หมื่นล้านบาท และภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จะติดลบถึง 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้จะขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซส่งกำไรส่วนเกิน 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกันคาดว่าจะจัดเก็บได้ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีระยะเวลา 3 เดือน ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 และจะมีมาตรการขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลประกาศเก็บเงินโรงกลั่นเดือนละ 6-7 พันล้านบาท เท่ากับว่าเป็นการเก็บค่าการกลั่นดีเซลที่ 3 บาทต่อลิตร และเบนซิน 1 บาทต่อลิตร
@PTT เพิ่มลงทุนเท่าตัว
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ว่า คณะกรรมการบริษัทได้ทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100%และอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2565 เป็น 91,179 ล้านบาท จากเดิมที่ 46,589ล้านบาท ซึ่งได้มีการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงาน จากเดิม 3,862ล้านบาท ปรับเป็น 14,765ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,903ล้านบาท รวมถึงการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จากเดิมอยู่ที่ 19,010ล้านบาท เพิ่มเป็น 56,432ล้านบาท
ทั้งนี้ การทบทวนแผนการลงทุนดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100%และกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน โดยหลังจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจ LNG รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) และการลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science : ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) โดยหลักจากธุรกิจยาที่มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited
ขณะที่การลงทุนในโครงการอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5