รีเซต

‘เอเชียพลัส’ หวั่นชุมนุม 14 ต.ค.63 ทำตลาดหุ้นไทยซึมตัว ทุบดัชนีร่วง-เม็ดเงินไหลออก

‘เอเชียพลัส’ หวั่นชุมนุม 14 ต.ค.63 ทำตลาดหุ้นไทยซึมตัว ทุบดัชนีร่วง-เม็ดเงินไหลออก
มติชน
14 ตุลาคม 2563 ( 09:23 )
61

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ มีประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยจะมีการชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งหากเทียบกับการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา บรรยากาศแวดล้อมดูค่อนข้างจะเงียบสงบกว่า อีกทั้งส่วนหนึ่งยังเป็นวันทำการปกติ ไม่ได้เป็นการเริ่มจัดชุมนุมในวันหยุดเหมือนรอบที่ผ่านมา โดยจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้บรรยากาศที่ส่งต่อมายังตลาดหุ้น ดูจะผ่อนคลายมากกว่ารอบที่ผ่านมา แต่ก็นับเป็นเหตุการณ์ที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า จะมีการชุมนุมแบบยืดเยื้อ หรือมีความรุนแรงในการชุมนุมหรือไม่ รวมถึงท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเป็นอย่างไร

 

“คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่คึกคักเท่าที่ควร และตลาดหุ้นไทยจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เพื่อรอดูทิศทางที่ชัดเจนของปัจจัยแวดล้อม (Wait&See) โดยการติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ฝ่ายวิจัยมีเป้าหมายไปที่การดูว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการออกมาตรการ เพื่อดึงเศรษฐกิจไทยออกจากภาวะถดถอย ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นที่เร่งด่วนในภาวะปัจจุบัน” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

 

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า หากนับวันหยุดพิเศษ จะมีวันทำการเพียง 4 วันเท่านั้น ขณะที่ 1 ใน 4 ของวันทำการ จะมีการจัดชุมนุมทางการเมืองในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งหากประเมินจากสถานการณ์แวดล้อมก่อนการชุมนุม เทียบกับการจัดชุมนุมใหญ่รอบล่าสุดที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากก่อนการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน จะเห็นภาพการสร้างกระแสการชุมนุมที่คึกคักมาก โดยมีการจัดชุมนุมกลุ่มย่อยในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงมีการกำหนดข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ

 

นายเทิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติการชุมนุมครั้งสำคัญในอดีต อาทิ การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 และการชุมนุมกลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556 พบว่าตลาดหุ้นมีการปรับฐานลงเฉลี่ย 6.2% และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เกิดการไหลออกเฉลี่ย 3.78 หมื่นล้านบาท รวมถึงค่าเงินบาท ปรับอ่อนค่าลงประมาณ 2.2% ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกถึงปัจจุบัน พบว่าดัชนีหุ้นปรับลดลง 7.4% ฟันด์โฟลว์ไหลออก 3.86 หมื่นล้านบาท และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 1.8% ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับในอดีต

 

“ขณะนี้เริ่มมีความกังวลว่า หากประเด็นการเมืองในประเทศกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง จะเป็นปัจจัยกระทบหลัก ที่ทำให้ดัชนีหุ้นปรับลดลง และทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก รวมถึงทำค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย โดยต้องติตตามอย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง จะส่งผลกระทบคล้ายกับในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง