รีเซต

สรุปส่งท้ายปี “NFT” ช่องทางเศรษฐี ที่ไม่ควรมองข้าม

สรุปส่งท้ายปี “NFT” ช่องทางเศรษฐี ที่ไม่ควรมองข้าม
TNN ช่อง16
31 ธันวาคม 2564 ( 18:00 )
177
สรุปส่งท้ายปี “NFT” ช่องทางเศรษฐี ที่ไม่ควรมองข้าม

ตลอดทั้งปี เรื่องของการขายผลงานในรูปแบบ NFT กลายเป็นประเด็นฮอตเพราะมีตัวอย่างผลงาน ที่ทำเงินได้หลักแสนไปจนถึงหลักล้านมาให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยกันอยู่บ้าง ว่าทำไม ถึงมีคนยอมลงทุนซื้อผลงานดิจิทัลด้วย NFT ในราคาแพงหูฉี่ ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน ก็คือความหมายของ NFT

NFT ย่อมาจากคำว่า Non-Fungible Token แปลตรง ๆ ก็คือ “เหรียญที่ทดแทนไม่ได้” ซึ่งเหรียญนี้ใช้ซื้อผลงานดิจิทัลรูปแบบใดก็ได้ ที่เป็นไฟล์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย ไฟล์วิดีโอ ไฟล์เอกสาร ซึ่งต่อให้มีการเลียนแบบผลงาน ก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากเราสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของผลงานตัวจริง เพราะ NFT แต่ละชิ้นจะมีการบันทึกและตรวจสอบได้ผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ว่า ใครคือผู้สร้างผลงาน ใครคือผู้ซื้อ ใครคือผู้ขาย 


ฉะนั้น จึงทำซ้ำหรือสร้างผลงานขึ้นมาทดแทนไม่ได้ เช่น คนที่ซื้อผลงานดิจิทัลด้วย NFT ไปแล้วมีสิทธิ์ที่จะขาย NFT ของผลงานชิ้นนั้นต่อได้ แต่จะเอาตัวผลงานไปดัดแปลงเป็นรูปแบบอื่น ๆ แล้วมาขายต่อไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่ทำไม่ได้ ก็เป็นเพราะว่า ผลงานที่ผู้ซื้อ ๆ ไป คือ “ซื้อสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ NFT ในผลงานชิ้นนั้น ๆ ซึ่งมีการเข้ารหัสบล็อกเชนไว้” พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ผู้ซื้อผลงาน สามารถขายต่อ NFT ได้ แต่จะเอาผลงานมาทำซ้ำ ดัดแปลง เพื่อขายต่อไม่ได้ 

ส่วนศิลปินผู้สร้าง จะยังถือลิขสิทธิ์งานชิ้นนั้นไว้ และทุกครั้งที่ผลงาน NFT ถูกขายไป ผู้สร้างก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งด้วย นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไมศิลปินหลายท่านจึงหันมาขายผลงานด้วย NFT เพราะเป็นตลาดที่ให้คุณค่ากับเรื่องของลิขสิทธิ์ และสามารถสร้างรายได้มหาศาล ส่วนผู้ที่ซื้อผลงาน NFT ก็ได้ชื่อว่า เป็นเจ้าของผลงานที่มีชิ้นเดียวในโลก ตลาด NFT จึงถูกใจนักสะสม ที่ต้องการชิ้นงานที่สามารถสร้างคุณค่า และสามารถเก็งกำไรได้สูง เพราะถึงจะจ่ายแพงหลายล้าน แต่ตอนปล่อยงานไปอาจจะได้กำไรกลับมาทวีคูณ


คราวนี้มาดูกันว่าที่ผ่านมามีงาน NFT ทั้งในไทยและต่างประเทศชิ้นไหนที่น่าสนใจบ้าง

ภาพจาก รอยเตอร์

The first Tweet

เริ่มต้นด้วย ทวิตแรกของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์และซีอีโอ ซึ่งทวิตไว้ตั้งแต่ปี 2006 ถูกประมูลไปในราคา 2.9 ล้านดอลลาร์ หรือ 97 ล้านบาท (97,669,100 บาท) ซึ่งผลงานชิ้นนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ ผลงานศิลปะด้วยซ้ำ ไป แต่ก็ถือว่าเป็น บันทึกประวัติศาตร์ยุคดิจิทัลที่มีคุณค่า

WWW source code

ส่วนโค้ดบนอินเทอร์เน็ตก็ขายได้เช่นกัน โดยชิ้นนี้เป็นโค้ดต้นฉบับของระบบการสืบค้นบนอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักกันดีในนาม WWW (World Wide Web) ขายไปที่ 5.43 ล้านดอลลาร์ หรือ 182 ล้านบาท (182,876,970 บาท)

Disaster Girl

แม้กระทั่งภาพที่เป็น “มีม” ก็ขายได้เช่นกัน โดยภาพมีม “Disaster Girl” หรือภาพเด็กหญิงแห่งมหัตภัย ถูกประมูลขายในราคา 500,000 ดอลลาร์ หรือประมาณกว่า 15 ล้านบาท (15,585,000 บาท)  


ภาพจาก bitcoinaddict

 

ปกการ์ตูนขายหัวเราะ

ข้ามมาที่ฝั่งไทย ปกการ์ตูนขายหัวเราะที่เราเห็นกันคุ้นตาก็นำมาขายในแบบ NFT แล้วเช่นกัน โดยเป็นปกฉบับแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2516 พร้อมลายเซ็นต์ของ วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการขายหัวเราะ ขายไปในราคาประมาณ 34,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1 ล้านบาทไทย


ภาพจาก bitcoinaddict

 

ต้นฉบับเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

มาถึงวงการเพลงกันบ้าง พี่ติ๊ก ชีโร่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของศิลปินไทยที่สนใจวงการ NFT โดยได้เอาต้นฉบับเนื้อเพลง “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ที่เขียนด้วยปากกามาประมูล ปิดไปที่ 6,238 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2 แสนบาท


นอกจาก ตัวอย่างการขายงาน NFT แล้ว บรรดาบริษัทเทคและแบรนด์ต่าง ๆ ก็ขยับเข้า NFT แล้วเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิด Metaverse ที่กระตุ้นให้ตลาดดิจิทัลเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เช่น

Epic Game

บริษัท Epic Games บริษัทผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมก็ประกาศเปิดรับเกมที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เงินดิจิทัลและ NFT ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นสามารถซื้อขายไอเทมหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเกมได้โดยใช้เงินดิจิทัล กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับผู้เล่นอีกหนึ่งช่องทาง


Nike

ส่วนทางฝั่งแบรนด์ มีตัวอย่างของ Nike ที่จดสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าเตรียมเข้าสู่ Metaverse และคาดว่าอาจจะมีการขายสินค้าในรูปแบบ NFT เช่นกัน


ถ้าดูจากตัวเลขความเติบโตของตลาด NFT ก็ไม่น่าแปลกใจที่ใคร ๆ ก็อยากลงทุนในตลาดนี้ เพราะจากตัวเลขตลอดทั้งปี 2021 เรียกได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดมาก โดยข้อมูลจากสื่อข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2021 ตลาด NFT มียอดการขายพุ่งไปถึง 10.7 พันล้านดอลลาร์ (10,700,000,000) หรือประมาณ 360,000 ล้านบาท (360,365,300,000)


ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตลาดซื้อขาย NFT โตแบบก้าวกระโดดขนาดนี้ คาดว่ามาจากช่วงล็อกดาวน์ที่คนใช้ชีวิตออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะ NFT ที่สามารถซื้อขายเพื่อเก็งกำไรมหาศาล อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาด NFT ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน 

เช่น อาจต้องเจอกับความผันผวนของค่าเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ รวมถึงเรื่องของความปลอดภัย เพราะเรามักได้ยินข่าวคนโดนหลอกประมูลซื้องาน NFT ปลอม เสียหายหลายล้านมาหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้คุณค่าของ NFT เองก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า NFT ก็แค่ไฟล์ ๆ หนึ่ง ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าคุณค่าของ NFT คือการถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ


สรุปแล้วแม้ NFT จะมีความผันผวนสูง แต่ก็นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากจะลองสร้างสรรค์ผลงานทำรายได้ดูบ้าง เพราะตราบใดที่คนยังมองเห็นคุณค่าของงานจากลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง NFT ก็จะยังคงมีคุณค่าและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากทีเดียว


ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters, cnbcreutersbitcoinaddict

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง