ปิดฉาก! ศาลปกครองสูงสุด ไม่รื้อคดีค่าโง่คลองด่าน รัฐต้องจ่าย 9 พันล้าน
ข่าววันนี้ 7 มี.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54 ที่สั่งให้ คพ. ชำระเงินกับบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ทั้ง 6 บริษัท จำนวน 4,983,342,383 บาท
และจำนวน 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 ดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นเงินค่าจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.46 จนถึงวันชำระเสร็จ และให้ คพ. คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 48 ล้านบาท ให้บริษัททั้งหก รวมเป็นเงินที่ คพ. ต้องชำระให้บริษัททั้งหก ตามคำชี้ขาดทั้งสิ้น 9,058,906,853.61 บาท
คดีดังกล่าว กระทรวงการคลังและ คพ. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อปี 2559 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะในส่วนของ คพ. และมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 เนื่องจากเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ คพ.ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี มีเหตุให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ทำให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง กับพวก ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า พยานหลักฐานที่ คพ.อ้าง ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่ คพ.อ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร ตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน ที่แสดงความเชื่อมโยงความทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้กัน เพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ จนเกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน
รวมทั้งกรณีสำนักงาน ปปง. มีหนังสือถึง คพ. แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.148/59 อายัดเงิน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิ์เรียกร้องที่ คพ. ต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ชั่วคราว รวมทั้งการอ้างความไม่ชอบของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่มีสาเหตุจากการขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นกลางของ นายเสถียร วงศ์วิเชียร ขณะเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชนนั้น
พยานหลักฐานของ คพ.ดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนและ คพ. ได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และมิใช่กรณีตามมาตรา 75 วรรคสอง
กรณีดังกล่าว จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่ และข้อเท็จจริงที่ คพ.กล่าวอ้าง มิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของ คพ.และกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุญาโตตุลาการชุดดังกล่าว สั่งให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ให้แก่ 6 บริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ที่มีบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างเป็นแกนนำ