ทีมผู้เชี่ยวชาญ IAEA บินญี่ปุ่น เช็คแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีฟุกูชิมะลงทะเล
ทีมผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า เพื่อตรวจสอบแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกูชิมะของญี่ปุ่นกว่าล้านตันลงทะเล
ทีมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวซึ่งมีราว 15 คน จะพบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลด้านสาธารณูปโภคในระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ และยังจะเยี่ยมชมโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะด้วย เดิมทีมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีแผนจะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม แต่ต้องล่าช้าออกไปจากากรแพร่ระบาดของโอมิครอน
รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ ได้ประกาศเมื่อปี 2564 ว่ามีแผนที่จะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2566 ขณะนี้น้ำที่ถูกบำบัดแล้วและทำให้เจือจางเพิ่มเติมถูกเก็บไว้ในถังราว 1,000 ถังในโรงงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมะ ซึ่งคาดว่าความจุของถังจะเต็ม 1.37 ล้านตันในปลายปีนี้
อย่างไรก็ดีแผนดังกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่นถูกคัดค้านอย่างหนักทั้งจากชาวประมง ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นอย่างจีนและเกาหลีใต้ เมื่อมีการประกาศแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลออกไป
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นหันไปขอความช่วยเหลือจากไอเออีเอเพื่อให้แน่ใจว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนผ่านการบำบัดแล้วดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล รวมถึงเพื่อทำความเข้าใจกับประเทศอื่นๆ ซึ่งคาดว่าทีมงานที่เดินทางมาในครั้งนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจาก 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนและเกาหลีใต้ด้วย
ญี่ปุ่นกล่าวด้วยว่า ทางเลือกเดียวที่ทำได้จริงคือค่อยๆ ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนซึ่งเจือจางด้วยน้ำทะเลลงสู่มหาสมุทร การปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนซึ่งผ่านการบำบัดแล้วดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะแล้วเสร็จ และว่าขณะนี้ไอโซโทปทั้งหมดที่ผ่านการบำบัดสามารถลดลงจนอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปซึ่งไม่สามารถแยกออกจากน้ำได้ แต่มันมีปริมาณเพียงเล็กน้อยและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่รอบๆ โรงงานฟุกูชิมะสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย หลังจากการขจัดสิ่งปนเปื้อนอย่างกว้างขวาง ยกเว้นเพียงแค่พื้นที่ติดกับโรงงานเท่านั้น พวกเขาตำหนิว่าชื่อเสียงที่เสียหายและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี เป็นอุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงของฟุกูชิมะฟื้นตัวล่าช้า