รีเซต

ไวรัสโคโรนา : เชื้อโรคโควิด-19 อาจเป็น "ไคมีรา" มีพันธุกรรมไวรัสสองชนิดรวมกัน

ไวรัสโคโรนา : เชื้อโรคโควิด-19 อาจเป็น "ไคมีรา" มีพันธุกรรมไวรัสสองชนิดรวมกัน
ข่าวสด
25 มีนาคม 2563 ( 11:33 )
245
1

ไวรัสโคโรนา : เชื้อโรคโควิด-19 อาจเป็น "ไคมีรา" มีพันธุกรรมไวรัสสองชนิดรวมกัน - BBCไทย

แม้ในขณะนี้จะมีงานวิจัยที่ช่วยให้ความรู้ใหม่ ๆ เรื่องเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคทางเดินหายใจโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่ทราบชัดถึงต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้อยู่ดี

ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันว่า เชื้อดังกล่าวมาจากสัตว์อย่างค้างคาว ตัวนิ่ม หรืองูเห่าจีนกันแน่ ส่วนเส้นทางวิวัฒนาการหรือความเป็นมาทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเองนั้น ก็ยังคงคลุมเครือเป็นปริศนาเช่นกัน

ล่าสุดบทความในเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ซึ่งเขียนโดย ดร. อเล็กซองดร์ ฮัซซานิน นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติว่าด้วยประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (MNHN) ของฝรั่งเศส ออกมาระบุถึงผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ชี้ว่า เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 อาจเป็น "ไคมีรา" (Chimera) สิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับสัตว์ประหลาดในเทพนิยายกรีก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์จากสัตว์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด แต่ในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น อาจเป็นการรวมตัวกันของพันธุกรรมจากไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวและตัวนิ่ม

Getty Images
ภาพจำลองโครงสร้างของเชื้อไวรัสโคโรนาโดยทั่วไป ซึ่งขณะนี้มีถึง 7 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้

 

บทความดังกล่าวอ้างถึงงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์จีน ที่เผยแพร่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา bioRxiv.org ซึ่งพบว่าเชื้อโรคโควิด-19 อาจเกิดจากการรวมตัวระหว่างไวรัสโคโรนาที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับสายพันธุ์ RaTG13 ซึ่งพบในค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) กับไวรัสโคโรนาที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับชนิดที่พบในตัวนิ่ม

บทความของ ดร. ฮัซซานิน อธิบายว่า ผลการเปรียบเทียบพันธุกรรมในหมู่ไวรัสโคโรนาที่ใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ชี้ว่าสายพันธุ์ RaTG13 ซึ่งพบในค้างคาว มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมถึง 96% ในขณะที่ค้างคาวไม่แสดงอาการของโรคออกมา ทำให้ชี้ได้ว่าสัตว์ชนิดนี้เป็น "แหล่งกักเก็บ" (Reservoir) ขนาดใหญ่ของเชื้อโรคโควิด-19 ได้

Gloucestershire Wildlife Trust
ผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมชี้ว่า ค้างคาวเป็น "แหล่งกักเก็บ" (Reservoir) ขนาดใหญ่ของเชื้อโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ไวรัสสายพันธุ์ที่พบในค้างคาวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมในส่วนหนามของมันมากเกินไป ซึ่งหนามนี้มีตัวรับที่ต้องใช้จับกับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าไวรัสชนิดนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ง่าย

ในขณะเดียวกัน ไวรัสโคโรนาซึ่งพบในตัวนิ่มมาเลเซีย (Manis javanica) มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมโดยรวมน้อยกว่าที่ 90% ทั้งตัวนิ่มที่ติดเชื้อยังแสดงอาการป่วยออกมาอีกด้วย ทำให้ไม่อาจถือว่ามันเป็นแหล่งกักเก็บของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้ แต่ทว่าไวรัสในตัวนิ่มมีพันธุกรรมของส่วนหนามใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 มากถึง 99% ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการเป็นเชื้อโรคระบาดได้มากกว่า

"ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นได้สูงว่าเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เป็นไคมีรา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของไวรัสโคโรนาทั้งสองชนิด โดยกระบวนการเพื่อรวมตัวนั้นจะเกิดขึ้นได้ เมื่อสิ่งมีชีวิตติดเชื้อไวรัสทั้งคู่พร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งยังคงต้องค้นหากันต่อไปว่าสัตว์ชนิดไหนที่ให้กำเนิดไวรัสไคมีรานี้ขึ้นมาได้" บทความของ ดร. ฮัซซานิน กล่าวสรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง