รีเซต

ศรชล.ภาค 3 ช่วยเหลือนักธุรกิจชาวจีน 4 คน ออกเรือตกปลากลางทะเล ขาดการติดต่อ

ศรชล.ภาค 3 ช่วยเหลือนักธุรกิจชาวจีน 4 คน ออกเรือตกปลากลางทะเล ขาดการติดต่อ
มติชน
5 ตุลาคม 2565 ( 11:04 )
34
ศรชล.ภาค 3 ช่วยเหลือนักธุรกิจชาวจีน 4 คน ออกเรือตกปลากลางทะเล ขาดการติดต่อ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 65 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค3 ) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 21.15 น.วันที่ 4 ต.ค. ศรชล.ภาค3 ได้รับแจ้งว่า นักธุรกิจชาวจีน 4 คน ออกไปตกปลา ด้วยเรือขนาดเล็กชื่อเรือ Sao กลางทะเลบริเวณเกาะราชาน้อย และขาดการติดต่อ ทำให้ครอบครัวของนักธุรกิจดังกล่าวขอความช่วยเหลือมาที่ ศรชล.ภาค 3 หลังรับแจ้ง ศูนย์ปฏิบัติการ ศรชล.ภาค 3 ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยค้นหาและช่วยเหลือ รวมทั้งขอความช่วยเหลือไปยัง MRCC เพื่อติดต่อเรือในบริเวณใกล้เคียง ทำการค้นหาและช่วยเหลือ

 

ต่อมาเมื่อเวลา 22.26 น. Bangkok Radio จาก MRCC แจ้งว่า มีเรือTanker ชื่อ ADRIATIC ENERGY ทอดสมอบริเวณใกล้เคียง ได้ขอให้ช่วยตรวจสอบเรือดังกล่าวด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่พบ และเวลา 22.48 น. Bangkok Radio รายงานว่าสามารถติดต่อเรือประสบเหตุได้แล้ว แจ้งว่าเครื่องยนต์เสียต้องการเรือลากจูงเข้าฝั่ง พิกัดลอยอยู่ใกล้เกาะราชาน้อย เวลา 23.45 น. พลเรือโท อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.ทรภ.3/ผอ.ศรชล.ภาค3 สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ส่งเรือ ต. 233 ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลับเข้าฝั่ง

 

พลเรือโท อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศรชล.ภาค 3 กล่าวว่า ทัพเรือภาคที่ 3และศรชล.ภาค 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดภูเก็ต ได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวจีนออกไปตกปลา และขาดการติดต่อขอให้ช่วยเหลือแจ้งเหตุเมื่อวันที่4 ต.ค.65เวลาประมาณ 21.00 น.ทางศรชล.ภาค3ได้รับแจ้งและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งทางจังหวัดโดยผู้ว่าฯภูเก็ต มาบัญชาการให้หน่วยต่างๆเข้าทำการช่วยเหลือ

 

ศรชล.ภาค3แจ้งที่ ศูนย์ปฏิบัติการศรชล.ภาค3 มีการเฝ้าติดตามเหตุการณ์และเจ้าท่ามีเครื่องมือติดตามเรือประมงสอบถามเรือข้างเคียงที่เรือตกปลามีเรือแทงค์เกอร์ได้ติดต่อสื่อสาร และทัพเรือภาคที่ 3 ได้ส่งเรือต.233 เข้าไปยังจุดที่เรือตกปลา และทราบว่าเรือลำนี้เครื่องยนต์ขัดข้อง อยู่บริเวณด้านใต้ของเกาะราชาน้อยประมาณ10 ไมล์ทะเล เรือต.233 ได้ออกเดินทางเมื่อคืนเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งไปถึงเรือที่ให้การช่วยเหลือประมาณตี3กว่า ได้ช่วยเหลือทั้ง4คนขึ้นมาบนเรือ ส่วนเรือที่ขัดข้องขอให้ทอดสมอไว้ก่อนจะพิจารณาใช้เรือในการไปลากกลับมา เนื่องจากถ้าลากในช่วงกลางคืนจะเกิดความเสียหายต้องช่วยเหลือคนมาก่อนทั้ง 4 คน มีสุขภาพแข็งแรงดี ได้นำกลับเข้าฝั่งเช้านี้ ทางผู้ว่าฯภูเก็ต และตน และเจ้าหน้าที่ต่างๆเข้าต้อนรับไดัเจอครอบครัวทราบว่าภรรยาและลูกไม่ได้หลับได้นอนเพราะกังวลสามีและเพื่อนๆไปประสบเหตุต้องรอการช่วยเหลือ

 

 

พลเรือโท อาภากร กล่าวต่อไปว่า ศรชล.ภาค3 มีประสบการณ์เยอะในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลแต่ที่ผ่านมามีข้อขัดข้องหลายเรื่อง เป็นโอกาสดีที่จีงหวัดมีศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน ได้บูรณาการทุกภาคส่วนเพราะการทำงานในทะเลไม่เหมือนบนบกถ้าเรามีเครือข่ายในทะเลการทำงานจะง่ายขึ้นและสามารถทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ต มีประสบการณ์ทั้งดีทั้งไม่ดี เรื่องพวกนี้จะเป็นบทเรียนว่าในอนาคตจะต้องทำอย่างไร ในฝั่งอันอันดามัน ที่แตกต่างจากอ่าวไทย จะเห็นว่าภัยธรรมชาติในปัจจุบันจะเลวร้ายมากขึ้นจากสภาวะโลกร้อนถ้าเราได้เรียนรู้จากต่างประเทศจะเห็นว่าสหรัฐโดนเฮอริเคน ในทะเลปั่นป่วนพอสมควร และภูเก็ตเป็นศูนย์กลางนักท่องเที่ยวเป็นไข่มุกอันดามันต่างชาติจะเข้ามาเยอะ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้ว่าฯภูเก็ต เอาภาคส่วนต่างๆมาทำงานร่วมกันเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาภูเก็ต ประเทศไทย

ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นในการช่วยเหลือชาวจีน ที่ออกไปตกปลา ถือว่าเป็นการซ้อมใหญ่ ซึ่ง ภารกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นของจริง แต่ก่อนหน้านี้ได้หารือกับผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 มาโดยตลอดว่าในเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะมีผู้คนเข้ามาเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น โดย ทะเล คือ ลมหายใจของภูเก็ต ดังนั้น โอกาสที่ทุกคนจะลงทะเลและโอกาสที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นได้ จึงหารือกันซึ่งมีคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยทางบกอยู่แล้วได้มอบหมายให้นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ไปตั้งคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลขึ้นมาอีกชุดหนึ่งจะได้ประสานงานกับกองทัพเรือและส่วนต่างๆ โดยใช้ ศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามันของ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เป็นศูนย์ปฏิบัติการ

 

เหตุในครั้งนี้ ได้มาถอดบทเรียนยังมีหลายเรื่องต้องมาคิดต่อไปข้างหน้า ทาง ทัพเรือภาคที่ 3ได้ชี้แนะว่า เครือข่ายทางทะเลต้องช่วยกันเพราะบางครั้งเรือจะออกจากฝั่งไปต้องใข้เวลา ยกตัวอย่างเช่น เรือโดยสารที่พานักท่องเที่ยววิ่งไประหว่างเกาะภูเก็ตกับเกาะพีพี กระบี่ โอกาสที่จะเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นมา และจากจุดไหนจะเข้าช่วยเหลือได้เร็ว ดังนั้นเครื่องมือที่มีอยู่กับระบบเครือข่ายทางทหารเรือและหลายภาคส่วนที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมกันให้เห็นเอาเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ซึ่ง อย่างกรณีนี้ เรือสินค้า สามารถติดต่อกับเรือตกปลาที่เครื่องยนต์เสียอยู่ได้ทำให้การค้นหาไม่เสียเวลา คิดว่า หลังจากนี้ไปทางทุกภาคส่วนต้องคุยกันอย่างต่อเนื่องจัดทำบิ๊กดาต้าเชื่อมโยงต่างๆ ในเครื่องมือที่มีอยู่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะดำเนินการต่อไปตั้งเป้าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยมากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง