รีเซต

รู้จักอาการ “นอนกรนอันตราย” บ่งบอกภาวะหยุดหายใจขณะหลับ!

รู้จักอาการ “นอนกรนอันตราย” บ่งบอกภาวะหยุดหายใจขณะหลับ!
TNN Health
21 ตุลาคม 2564 ( 14:42 )
132
รู้จักอาการ “นอนกรนอันตราย” บ่งบอกภาวะหยุดหายใจขณะหลับ!

ข่าววันนี้ “นอนกรน” ไม่ใช่แค่รบกวน และอาจสร้างความรำคาญ ให้กับคนนอนข้างๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถบ่งบอกถึงสัญญาณอันตราย “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” รวมถึงความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง


รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า การนอนกรน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


1) นอนกรนธรรมดา (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน  เสียงกรนทำให้นอนหลับยาก ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน  แต่อาจมีปัญหาในการเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นได้


2) นอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว  ถ้าไม่รักษา อาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่  ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ และยังมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ตามที่ระบุข้างต้น


สำหรับอาการที่บ่งบอกถึงการนอนกรนอันตราย ซึ่งมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ อาทิ


- ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะ  ต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม 
- มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน เรียน ประชุม ขับรถ 
- คนรอบข้างสังเกตว่ามีช่วงหยุดหายใจ (witnessed apnea) หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
- มีอาการสะดุ้งตื่น ผวา  พลิกตัว หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
- ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ หรือ อาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลา  (hyperactivity) หรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน (enuresis)
- มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน

 

ในการรักษานอกจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจส่งท่าน ตรวจการนอนหลับ (polysomnography) เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค ด้วยการตรวจวัดค่าต่างๆ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้


- คลื่นไฟฟ้าสมอง, ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของลูกตา (บอกความตื้นลึก หรือ ระยะของการนอนหลับ และแยกจากภาวะตื่น)
- ลมหายใจผ่านเข้าออกทางจมูก และปาก และการเคลื่อนไหวของทรวงอก และท้อง (ช่วยแยกระหว่างการหายใจที่ปกติ และการหยุดหายใจ รวมทั้งบอกชนิดของการหยุดหายใจ)
- ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (บอกความรุนแรงของการลดลงของปริมาณออกซิเจนในเลือด) 
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (บอกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ในช่วงหยุดหายใจ หรือขณะนอนหลับ


ที่มา :  รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน, สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง