รีเซต

คลัง กู้อีก 6 หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ แจงชัดเหตุผล ถ้าไม่กู้ ก็ไม่มีเงินเยียวยา

คลัง กู้อีก 6 หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ แจงชัดเหตุผล ถ้าไม่กู้ ก็ไม่มีเงินเยียวยา
ข่าวสด
25 มกราคม 2564 ( 14:17 )
96
คลัง กู้อีก 6 หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ แจงชัดเหตุผล ถ้าไม่กู้ ก็ไม่มีเงินเยียวยา

คลัง กู้อีก6หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ ตีกรอบ 2 เดือนกู้ครบ 2.1 แสนล้าน แจงชัดเหตุผล ถ้าไม่กู้ ก็ไม่มีเงินเยียวยาโควิด รับงบประมาณอย่างเดียวเอาไม่อยู่

 

เราชนะ / วันที่ 25 ม.ค.64 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในวันที่ 1-19 ก.พ. 2564 กระทรวงการคลัง จะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “เราชนะ” ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมีวงเงินจำหน่าย 5 พันล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ย 2% ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

 

และในวันที่ 5-19 ก.พ. 2564 จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ “เราชนะ” วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ โดยแบ่งการจำหน่ายออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. วันที่ 5-15 ก.พ. 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% ต่อปี

 

จากนั้น ในวันที่ 26-19 ก.พ. 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.8% ต่อปี โดยวงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบน. และธนาคารตัวแทนจำหน่าย ไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง เชื่อว่าพันธบัตรออมทรัพย์จะจำหน่ายได้หมดตามวงเงินที่ตั้งไว้ เนื่องจากประชาชนทุกคนคงรอ โดยพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่คงเป็นการทยอยขาย ไม่ได้หมดอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับความคืบหน้าในการกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดมีการอนุมัติกรอบวงเงินกู้แล้ว 7 แสนล้านบาท และมีการกู้เงินแล้ว 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 39% ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น อนุมัติแล้ว 1.96 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.56 พันล้านบาท

 

ส่วนวงเงินเพื่อการเยียวยา 5.6 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 5.58 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 3.22 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.9 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.33 แสนล้าบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 4.8 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากการกู้เงินของรัฐบาลยังเป็นไปตามแผน ในกรอบ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่หากกู้เต็มวงเงินจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับ 56% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง โดยในช่วง ม.ค.-ก.พ. 2564 สบน. มีแผนที่จะกู้เงิน 2.1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเราชนะ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (PN) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว พันธบัตรออมทรัพย์ และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

 

โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 56% ภายในปีงบประมาณ 2564 เป็นการคำนวณจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1% จากคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวเป็นบวก ซึ่งเป็นการรวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี เบื้องต้น สบน. ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพราะวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินเดิมยังเหลือยู่ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มหรือไม่

 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนของแผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2564 มีกรอบวงเงิน 2.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ 1.31 ล้านล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ (โลวโอเวอร์) 1.03 ล้านล้านบาท โดยภายใต้แผนการบริหารหนี้ ประกอบด้วย พันธบัตรออมทรัพย์ 5% วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท พันธบัตรรัฐบาล 36% วงเงิน 8.5 แสนล้านบาท, ตั๋วเงินคลัง 22% วงเงิน 5.2 แสนล้านบาท, ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 35% วงเงิน 8.2 แสนล้านบาท และเงินกู้จากเอดีบี 2% วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท

 

“การกู้เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ ถ้าไม่มีเงินกู้ก็ไม่มีเงินเยียวยา ในมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน อยากให้มองทั้ง 2 ด้าน เพราะงบประมาณอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ มีโครงการอย่างเดียว แล้วไม่มีเงินโครงการก็คงไปไม่ได้ ดังนั้นหนี้สาธารณะจำเป็นต้องมี เพราะเป็นเม็ดเงินเดียวที่จะหมุนเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก” นางแพตริเซีย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง