รีเซต

ผู้ว่าฯ อัศวิน เร่งสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 6 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.

ผู้ว่าฯ อัศวิน เร่งสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 6 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.
ข่าวสด
4 ตุลาคม 2564 ( 10:18 )
113

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ว่า ปัจจุบันได้ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนี้

 

 

1. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกทม. ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม.

 

 

2. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.

 

 

3. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

 

4. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

 

ทั้งนี้ กทม. จะก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2565

 

 

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569

 

 

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2568

 

 

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569

 

 

อย่างไรก็ตามอุโมงค์ยักษ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง

 

 

นอกจากนี้ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง