แปะแผ่นทองกระโหลกศพไร้ญาติ “เลือกหัวหน้าผี” ตามความเชื่อส่วนหนึ่งในพิธีล้างป่าช้า

พิธีล้างป่าช้าเป็นงานมหากุศลที่เกิดจากความเชื่อและศรัทธาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เป็นงานบุญใหญ่ เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด มักจะมีจิตอาสา อาสาสมัครและผู้ใจบุญ ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาร่วมพิธี นับเป็นการสืบสานประเพณีแห่งความเมตตาและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้คงอยู่ต่อไป
ส่วนขั้นตอนและลักษณะของพิธี จะเริ่มตั้งแต่การขุดศพไร้ญาติที่ฝังอยู่ในสุสานขึ้นมาทำความสะอาด นำกระดูกที่ได้มาทำพิธีทางศาสนา เช่น การสวดอภิธรรม และการฌาปนกิจ ผู้เข้าร่วมพิธีมักจะสวมชุดขาว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และเคารพต่อผู้ล่วงลับ บางครั้งอาจมีการถือศีลกินเจก่อนเข้าร่วมพิธี เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์
ซึ่งหนึ่งในพิธีสำคัญก่อนที่จะนำโครงกระดูกของศพไร้ญาติไปฌาปนกิจคือ “การเลือกหัวหน้าดวงวิญญาณ” พิธีนี้จะอยู่ถัดจากการล้างน้ำชาหลังจากนำโครงกระดูกของผู้ล่วงลับมาเรียงเพื่อตากให้แห่งก่อนบรรจุและนำไปฌาปนกิจในขั้นต่อไป ซึ่งจะมีการใช้ ไม้กี (เป็นไม้ที่ใช้เป็นสื่อกลาง ระหว่างร่างทรง กับองค์เซียนซือ หรือเจ้าองค์ต่างๆ ที่ลงมาประทับ เพื่อประกอบพิธีกรรม) ในการคัดเลือกหัวหน้าดวงวิญญาณและรองหัวหน้าอีก 4 ร่าง แยกกันระหว่างฝั่งชายและหญิง เพื่อกำกับดูแลความเรียบร้อยของดวงวิญญาณแต่ละแถวที่หัวหน้าดูแล ซึ่งแบ่งเป็น 4 แถวตามเตาเผาที่รอบนี้จะมีถึง 4 เตา
ก่อนจะให้จิตอาสาที่มาร่วมงานได้ปิดทองกระโหลกหัวหน้าและรองหัวหน้าดวงวิญญาณ พร้อมป่ะพรมน้ำอบกระโหลกและกระดูกแก่ร่างศพไร้ญาติทั้งหมดในพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล และมีกลิ่นหอม ก่อนนำผ้าขาวมาบรรจุกระดูกเพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจ นี่คือหนึ่งในขั้นตอนที่เกิดขึ้นมาจากความศรัทธาและความเชื่อที่ถูกสืบต่อกันมา
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์