รีเซต

นักลงทุน เริ่มกังวลวัคซีนล่าช้า ซ้ำเติมศก.ไทย

นักลงทุน เริ่มกังวลวัคซีนล่าช้า ซ้ำเติมศก.ไทย
มติชน
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:40 )
70
นักลงทุน เริ่มกังวลวัคซีนล่าช้า ซ้ำเติมศก.ไทย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2564 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.5% จากเดือนก่อน ซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือ การคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เพราะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านไวรัสที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่คาดว่า จะสามารถฟื้นตัวได้แน่นอน ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การเข้ามาของวัคซีนต้านไวรัส ที่มองว่าจากไทม์ไลน์ในขณะนี้ก็ค่อนข้างช้า ซึ่งหากมาช้ากว่าที่กำหนดไว้ ก็จะฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

 

“จุดขายของตลาดหุ้นไทยคือ การเข้ามาของวัคซีนต้านไวรัส การไหลเข้ามาของฟันด์โฟลว์ และผลประกอบการบจ. ที่คาดว่าจะฟื้นตัวแน่นอน เนื่องจากปีที่ผ่านมา ผลประกอบการบจ.ติดลบกว่า 40% หากปีนี้ฟื้นขึ้นได้ 40% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก” นายไพบูลย์ กล่าว

 

สำหรับผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่น กลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 22% อยู่ที่ระดับ 144.07 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 1% อยู่ที่ระดับ 117.65 และกลุ่มนักลงทุน ต่างชาติปรับตัวลดลง 17% อยู่ที่ระดับ 125.00 โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีความผันผวนอยู่ระหว่าง 1,468.24-1,547.31 จากการเทขายหุ้นที่มี free float ต่ำ โดยหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ช่วงครึ่งเดือนหลังดัชนีปรับตัวในกรอบแคบ โดยมีข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านโครงการเราชนะ ที่ออกมาช่วยเสริมสภาพคล่องด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และการประกาศผ่อนคลายพื้นที่ควบคุม แต่ดัชนีได้รับผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจเกิดจากการปรับฐานการลงทุน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม ดัชนีปิดที่ 1,466.98 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.22% จากเดือนก่อนหน้า

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นักลงทุนสนใจลงทุนในพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) ในส่วนปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ โอกาสการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกจากการแจกจ่ายวัคซีน การทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน และการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศงบการเงินบริษัทจดทะเบียน ผลการประชุมรัฐสภาใน ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระสองที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์การเมือง จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันที่ยังเพิ่มสูงอยู่และแผนการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ รวมถึงติดตามความเป็นไปได้ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ

 

ด้าน นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1/2564.มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการสำรวจเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับการเข้ามาของวัคซีนน่าจะทำให้สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ซึ่งเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง