รีเซต

บิ๊กป้อม รักษาการนายกฯ ถก คกก.เพิ่มคุณภาพเตือนภัยพิบัติ ส่งข้อความเข้ามือถือ

บิ๊กป้อม รักษาการนายกฯ ถก คกก.เพิ่มคุณภาพเตือนภัยพิบัติ ส่งข้อความเข้ามือถือ
มติชน
25 สิงหาคม 2565 ( 11:29 )
58
บิ๊กป้อม รักษาการนายกฯ ถก คกก.เพิ่มคุณภาพเตือนภัยพิบัติ ส่งข้อความเข้ามือถือ

บิ๊กป้อม รักษาการนายกฯ ถก คกก.เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แจ้งเตือนภัยใช้ระบบ Cell Broadcast ส่งข้อความตรงเข้ามือถือ

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการคนที่ 1 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ข้อ 6 ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย มาตรการ และแผนบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมจัดทำแนวทาง แผนงาน และโครงการต่างๆ ในการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเตือนภัยพิบัติของประเทศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นรองประธาน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 30 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ

 

โดยในวันนี้เป็นวาระที่คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสนอต่อ กภช. โดยเฉพาะการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งจะเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนการบริหารระบบการเตือนภัยของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะมีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและมีแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมดำเนินการ

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ระบบ Cell Broadcast เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง Cell Broadcast เป็นระบบที่ช่วยให้ทำการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถส่งข้อความตรงถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ช่องทางพิเศษแยกจากช่องสัญญาณปกติ ทำให้มีความเสถียร ไม่เกิดการติดขัดของสัญญาณเครือข่ายและการส่งข้อมูล อีกทั้งมีเสียงการแจ้งเตือนมีรูปแบบเฉพาะ ผู้รับบริการไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรวมถึงมีความปลอดภัยของระบบในการแจ้งเตือนและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

 

ซึ่งหลาย ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็ได้มีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนเช่นเดียวกันโดยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อเพิ่มช่องทางการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการบริหารระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศ เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีเอกภาพตามมาตรฐาน

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ ไปเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายข้อความและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง